กรุงเทพฯ 8 พ.ย. – กกพ.เห็นชอบขึ้นค่าเอฟที 4.30 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวด ม.ค.-เม.ย.62 ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 3.60 บาทต่อหน่วย แม้ กกพ.ทุ่มหมดหน้าตักนำมาตรการต่าง ๆ คิดเป็นวงเงิน 10,367 ล้านบาท มาช่วยบรรเทาภาระประชาชนแล้วก็ตาม
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. แถลงว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟทีงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2562 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเทียบกับค่าเอฟทีที่เรียกเก็บปัจจุบัน -15.90 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 4.30 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการปรับขึ้นค่าเอฟทีครั้งแรกในรอบ 16 เดือน โดยปัจจัยหลักมาจากราคาเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาก๊าซเดือนกันยายน-ธันวาคม 2561 ปรับตัวสูงขึ้น 12.67 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.48 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 1.17 บาทต่อลิตร และราคาถ่านหินเพิ่มขึ้น 114.36 บาทต่อตัน และราคาซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น 0.08 บาทต่อหน่วย ทำให้ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากปัจจุบันจ่าย 3.60 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยผลกระทบการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทาง กกพ.คาดการณ์ว่าราคาเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและยืนอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในระยะต่อไปยังคงอยู่ในภาวะขาขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศปรับตัวและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน กกพ.ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการและมาตรการทางการเงินเข้าไปดูแล ทั้งมาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการผลิตไฟฟ้า โดยได้ประสานความร่วมมือ บมจ.ปตท. วิเคราะห์การลดสัดส่วนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี พร้อมประสานความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ.ให้พิจารณาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความเหมาะสมเพื่อเพิ่มปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นและมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตภายในประเทศ
สำหรับมาตรการทางการเงินและบัญชีมาช่วยบรรเทาภาระประชาชน 10,367 ล้านบาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการค่าเอฟที ดังนี้ กกพ.มีมติให้นำเงินสะสมจากการเรียกเก็บค่าเอฟที 3,298 ล้านบาท รวมกับเงินค่าบริหารเอฟทีและค่าปรับจากผู้ประกอบการ 5,547 ล้านบาท และเม็ดเงินลงทุนจากการไฟฟ้าที่ไม่ได้ลงทุนตามแผนอีก 1,522 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการผันผวนของการปรับเพิ่มค่าเอฟทีที่ส่งผลกระทบต่อค่าบริหารไฟฟ้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน.-สำนักข่าวไทย