5 พ.ย. – กยท. เปิดโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท มั่นใจจะเกิดประโยชน์กับทั้งกลุ่มผู้ประกอบกิจการยางได้มีเงินรับซื้อยางมากขึ้น ผลักดันการแข่งขันทางการตลาด ซึ่งจะส่งผลดีกับเกษตรกรชาวสวนยางทำให้ขายยางได้ในราคาที่สูงขึ้น
โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นอีกหนึ่งมาตรการตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นผลักดันราคายางพารา สร้างการแข่งขันทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดยอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการยางแห้งที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการซื้อวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันและยางแท่ง นำมาเก็บสตอกไว้ในโกดังหรือสถานประกอบการในลักษณะหมุนเวียน (Moving stock) เพื่อช่วยดูดซับวัตถุดิบยางพาราออกจากระบบ โดยการกู้เงินระยะสั้นจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี
นายธนพันธ์ ชำนาญธนา ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง โดยผู้ประกอบกิจการยางจะได้รับการชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนเกษตรกรก็จะสามารถขายยางพาราได้ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป สำหรับเป้าหมายโครงการคาดว่าจะสามารถดูดซับยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง 350,000 ตัน จากผลผลิตทั้งปีประมาณ 3,200,000 ตัน ซึ่งเป็นส่วนของยางแห้ง เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการยางขยายวงเงินลงทุนมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายยางให้เกษตรกร
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี เพราะจะทำให้โรงงานสามารถเพิ่มปริมาณการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีปริมาณการรับซื้อเฉลี่ยวันละ 800-1,000 ตัน หากได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการฯ ดังกล่าว คาดว่าจะเพิ่มปริมาณรับซื้อยางได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,400-1,500 ตัน อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้ทางโรงงานเก็บสตอกยางไว้ในโกดังได้ ทางผู้ประกอบการก็พร้อมให้ความร่วมมือ และพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการฯ และเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา ประโยชน์ก็จะตกกับเกษตรกรมีทางเลือกในการขาย และได้ราคาที่สูงขึ้นกว่าท้องตลาดทั่วไปด้วย และหากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับทางโรงงานและเกษตรกรชาวสวนยางอย่างต่อเนื่อง
นอกจากโครงการดังกล่าวแล้วยังมีโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้รวบรวมยางพารา โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางที่แปรรูปน้ำยางข้น และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อนำไปใช้ขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ จึงนับเป็นการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบอย่างครบวงจร
สำหรับผู้ประกอบกิจการยางแห้งที่สนใจเข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2561 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โทร.02-579-1576 ต่อ 312 หรือ 097-251-290 .- สำนักข่าวไทย