กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – คมนาคมยืนยันญี่ปุ่นไม่ยกเลิกร่วมลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ พร้อมเดินหน้าตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่าย เร่งศึกษาให้ได้ข้อสรุปอย่างรอบคอบ และเกิดความคุ้มค่าลงทุน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อ โดยนำเสนอข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นจะไม่เข้าร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในส่วนของงานก่อสร้างและงานวางระบบ รวมถึงงานจัดซื้อตัวรถและซ่อมบำรุง เนื่องจากกังวลว่าจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนด้านงานบริหารและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมลงทุนควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านความรู้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง เพื่อผลิตบุคลากรรองรับในอนาคต
นายสราวุธ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (MOC) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยได้เริ่มทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เสร็จเดือนพฤศจิกายน 2560
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) อยู่ระหว่างหารือรูปแบบการลงทุนโครงการร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีรายละเอียดหลายประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างและงานวางระบบ รวมถึงงานจัดซื้อตัวรถและการซ่อมบำรุง โดยคมนาคมและ MLIT ได้มีการหารือร่วมกันครั้งล่าสุดในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านคมนาคม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 โดยฝ่ายไทยยังยืนยันว่าฝ่ายญี่ปุ่นควรร่วมพิจารณาลงทุนกับฝ่ายไทย เนื่องจากผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สรุปว่าต้องมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่รอบสถานี (TOD) ร่วมด้วย จึงจะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่น ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้รัฐบาลไทยจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม ในการหารือล่าสุดฝ่ายไทยเสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาใช้รูปแบบการดำเนินงานลักษณะเดียวกับการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2558 ที่ลงทุนผ่าน Japan Oversea Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN) โดยมอบหมายให้คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันศึกษาและหารือรายละเอียดดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมลงทุนในโครงการนี้โดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย