กรุงเทพฯ 25 ต.ค. – กสอ.ร่วมกับ SMRJ และรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดนางาโนะญี่ปุ่น พัฒนาเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสาร
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ลงนามความร่วมมือร่วมกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ “SMRJ” เพื่อเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม T-GoodTech ของไทย กับ J-GoodTech ของญี่ปุ่น เพื่อจับคู่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น
ล่าสุด กสอ.ลงนามกับจังหวัดนางาโนะ รัฐบาลท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ความร่วมมือเน้นเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การสื่อสาร การลงนามครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 18 ของความร่วมมือในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีระหว่างไทยและญี่ปุ่น
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดี กสอ. กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นจะเสริมสร้างความสามารถแข่งขันทางธุรกิจของเอสเอ็มอีของไทยให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับญี่ปุ่น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจโดยเฉพาะด้านเทคนิค การตลาด การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม และยังมีการส่งเสริมความเชื่อมโยงในสาขาอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ตามหลักแนวคิด Otagai Business ที่มุ่งสร้างเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงศึกษาศักยภาพทางอุตสาหกรรมของจังหวัดนางาโนะที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง หรือการผลิตแบบโมโนซุคุริ (Mono ZuKuri) โดยเฉพาะผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุปกรณ์สื่อสาร ซึ่ง กสอ.จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดและพัฒนาให้กับเอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าวของไทย รวมถึงนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ ITC ที่จัดตั้งอยู่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมุ่งศึกษาเทคนิคการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูง เช่น ชิ้นส่วนในสมาร์ทโฟน เครื่องปริ๊นเตอร์ กล้องถ่ายรูป รวมถึงแผงวงจรที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ซึ่งจังหวัดนางาโนะถือเป็นเมืองชั้นนำในการคิดค้นนวัตกรรมดังกล่าว เพราะจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินการผลิตชิ้นส่วนหรือแผงวงจรอิล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเทคนิคในการทำให้มีความอัจฉริยะและขนาดที่เล็กลง ซึ่งตลาดทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและแข่งขันกันในระดับที่สูงมาก
ปัจจุบันมีบริษัทจากจังหวัดนางาโนะที่ลงทุนในไทย 113 บริษัท จาก 1,150 บริษัทที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จังหวัดดังกล่าวนอกจากจะมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ซึ่งจากข้อมูลปี 2557 พบว่า ยอดมูลค่ารวมผลิตภัณฑ์ของจังหวัดนางาโนะภายในประเทศสูงถึง 5.45 ล้านล้านเยน ถือเป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านอุปกรณ์การสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงกล้องถ่ายรูป นาฬิกา และกล่องดนตรี ที่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของจังหวัดและหลายรายการก็ถือครองสัดส่วนการตลาดในประเทศเป็นอันดับ 1 อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย