กรุงเทพฯ 24 ต.ค. – สมอ.ประกาศจะยกมาตรฐานน้ำปลาไทยอิงมาตรฐานสากล ปรับลดปริมาณฮีสตามีนในกระบวนการผลิต
นายวันชัย พนมชัย รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.เตรียมปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำปลาพื้นเมืองมาตรฐานเลขที่ มอก. 3-2526 ใหม่ โดยมาตรฐานที่จะปรับใหม่จะอิงตามมาตรฐานสากลของคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (Codex Alimentarius Commission – CAC) โดยคาดว่าจะเสนอขอให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) พิจารณาเรื่องการขอปรับมาตรฐานน้ำปลาพื้นเมืองให้ได้ตามมาตรฐานสากล หากได้รับความเห็นชอบ สมอ.จะดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการปรับปรุงมาตรฐานจะเสร็จประมาณไตรมาสแรกปี 2562
สำหรับมาตรฐานน้ำปลาพื้นเมืองใหม่ จะนำมาตรฐาน มอก. 3-2526 ที่มีอยู่ไปปรับปรุงข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ล้าสมัยให้มีความทันสมัยขึ้น และยังคงเป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่เป็นมาตรฐานบังคับ ข้อกำหนดที่จะปรับปรุงเพิ่ม คือ ปรับเพิ่มมาตรฐานสารปนเปื้อนให้มีความเข้มงวดมากขึ้นอิงตามเกณฑ์มาตรฐานของ Codex ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล เช่น ปริมาณฮีสตามีนในกระบวนการผลิตน้ำปลาและดูแลมาตรฐานในเรื่องจุลินทรีย์
“สมอ.ในฐานะกำกับดูแลสินค้าน้ำปลาที่มีมาตรฐาน ขอฝากไปยังประชาชนว่าหากจะให้สบายใจ ก็ขอให้ใช้น้ำปลาที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 3-2526 สบายใจแน่ ทั้งเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของน้ำปลา” นายวันชัย กล่าว
สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำปลาพื้นเมือง มาตรฐานเลขที่ มอก. 3-2526 ที่เป็นมาตรฐานน้ำปลาที่ใช้ในปัจจุบันเป็นมาตรฐานทั่วไปไม่ใช่มาตรฐานบังคับ โดยควบคุม 2 ส่วน คือ มาตรฐานความปลอดภัยและสารในน้ำปลา กำหนดค่าสารอาหารและค่าสารปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและสากลไม่ยอมรับก็ต้องมีในปริมาณที่ไม่มากไปกว่ามาตรฐานที่กำหนด คุณภาพของน้ำปลาดูครอบคลุมตั้งแต่สี รส กลิ่น ต้องถูกสุขอนามัย ซึ่งมาตรฐานของ สมอ.แตกต่างจากการพิจารณามาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พิจารณาเรื่องความปลอดภัยในการบริโภค แต่การขอ มอก. 3-2526 จาก สมอ.จะต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
นายวันชัย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ผลิตน้ำปลาทำเรื่องขอมาตรฐาน มอก. 3-2526 และได้รับใบอนุญาตไปแล้วรวมประมาณ 30-40 ราย ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงที่ยังคงรักษามาตรฐานเอาไว้ได้เพียง 15 รายเท่านั้น มีหลายรายยกเลิก เพราะค่าต่าง ๆ ไม่ได้ตามมาตรฐานที่ สมอ.กำหนด จึงยกเลิกใบอนุญาต
สำหรับรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาต มอก. 3-2526 ประกอบด้วย นายธีระ ทังสมบัติ นายนิพนธ์ เฉลิมโชควิจิตร นายศักดิ์ชัย ตั้งทรงเจริญ นายโยธิน อังควินิจวงศ์ นางนิธินาถ สินพัฒนากร นายชัย วิสุทธิ์อัมพร บริษัท น้ำปลาพิไชย จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง (โซวท่งเส็งหลี) จำกัด บริษัท โรงน้ำปลาตั้งไถ่เซียง จำกัด บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด บริษัท สินธุสมุทร จำกัด หจก.โรงงานน้ำปลาแสงไทยตราพระ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรไทยไพโรจน์ บริษัท โรงงานน้ำปลาฉั่วฉะเส็ง (ตราหอยหลอด) จำกัด
นิยามของน้ำปลาของ สมอ.คือ น้ำปลา หมายถึง ของเหลวที่ได้จากการหมักปลาหรือส่วนของปลากับเกลือ หรือกากปลาที่เหลือจากการหมักกับน้ำเกลือตามกรรมวิธีการทำน้ำปลา แบ่งเป็น 2 ชั้นคุณภาพ คือ ชั้นคุณภาพที่ 1 และชั้นคุณภาพที่ 2 คุณลักษณะที่ต้องการ ได้แก่ น้ำปลาต้องใส ปราศจากตะกอน ยกเว้นผลึกซึ่งเกิดจากเกลือโซเดียมคลอไรด์ กลิ่น รสและสี และมีการกำหนดคุณสมบัติทางเคมีเอาไว้ เช่น ความเป็นกรด-ด่างหรือค่า pH อยู่ในระดับ 5.0-6.0 ระดับโซเดียมคลอไรด์ กรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตรไม่น้อยกว่า 230 ทั้งชั้นคุณภาพที่ 1 และชั้นคุณภาพที่ 2 ส่วนระดับไนโตรเจนทังหมดคิดเป็นกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตรไม่น้อยกว่า 20 สำหรับน้ำปลาชั้นคุณภาพที่ 1 และไม่น้อยกว่า 15 กรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร สำหรับชั้นคุณภาพที่ 2 อัตราส่วนของกรดกลูตามิกต่อไนโตรเจนทั้งหมด 04.-0.6 ทั้งชั้นคุณภาพที่ 1 และชั้นคุณภาพที่ 2 ค่าไนโตรเจนจากกรดอะมิโนคิดเป็นกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตรไม่น้อยกว่า 10 สำหรับทั้งชั้นคุณภาพที่ 1 และ 7.5 สำหรับชั้นคุณภาพที่ 2
ด้านวัตถุเจือปนอาหารตามมาตรฐาน มอก. 3-2526 ห้ามใช้วัตถุกันเสีย ห้ามใช้วัตถุที่ให้ความหวานชนิดอื่น นอกจากน้ำตาล การแต่งสีของน้ำปลาให้ใช้น้ำตาลเคี่ยวไหม้ได้เท่านั้น ขณะที่ภาชนะบรรจุ จะต้องสะอาดและทนต่อการกัดกร่อน ด้านปริมาตรสุทธิต้องไม่น้อยกว่าที่ระบุไว้ที่ฉลาก เป็นต้น
สำหรับ CODEX ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิก Codex ทุกประเทศ รวมทั้งประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การอนามัยโลก.-สำนักข่าวไทย