กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – คณะอนุกรรมการฯ เตรียมพิจารณาจัดสรรพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน เสนอมิลค์บอร์ดเห็นชอบ 24 ต.ค.นี้ มั่นใจทำสัญญาเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กล่าวว่า ได้พิจารณาจัดสรรสิทธิ์การจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการแล้ว โดยภาคเรียนที่ 2/2561 มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 64 ราย 71 โรงงาน แบ่งเคยร่วมโครงการภาคเรียนที่ผ่านมา 59 ราย และปีก่อน ๆ แต่ไม่ได้เข้าร่วมภาคเรียนที่ 1/ 2561 จำนวน 4 ราย ส่วนอีก 1 รายเป็นรายใหม่ รวมปริมาณน้ำนมที่ผู้ประกอบการยื่นขอเข้าร่วมโครงการ 1,317.647 ตันต่อวัน ซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนกำหนดไว้ที่ 1,170 ตันต่อวัน โดยคำนวณจากจำนวนนักเรียนทั้ง 7,400,000 คน ดื่มนมวันละ 200 มิลลิลิตร ภาคเรียนละ 130 วัน ดังนั้น ปริมาณน้ำนมที่ผู้ประกอบการยื่นขอร่วมโครงการเกิน 147.647 ตันต่อวัน จึงได้ปรับลดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการวิชาการของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด)
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (22 ต.ค.) จะเชิญผู้ประกอบการที่คุณสมบัติผ่านทั้ง 64 รายมาร่วมประชุม โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนจะพิจารณาจัดสรรตามประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายของมิลค์บอร์ด แบ่งเป็น 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์น้อยกว่า 50,000 กล่องหรือถุงต่อวัน ซึ่งมีสถานที่ผลิตจังหวัดใดจะได้จำหน่ายในพื้นที่นั้นหรือพื้นที่ใกล้เคียง หากมีผู้ประกอบการในพื้นที่มากกว่า 1 รายให้จัดสรรแก่สหกรณ์ขนาดเล็ก โครงการพระราชดำริ สถาบันการศึกษา หรือผู้ประกอบการเอกชนขนาดเล็กก่อน ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์จำหน่ายมากกว่า 50,000 กล่องหรือถุงต่อวันจะได้รับพิจารณาเป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้ เบื้องต้นจะให้ผู้ประกอบการตกลงกันเองก่อน แต่หากตกลงกันไม่ได้ คณะอนุกรรมการฯ นมโรงเรียนจะชี้ขาด ส่วน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ประกอบการในสถานที่น้อย หากมีสิทธิ์เหลือให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาจัดสรรแก่ผู้ประกอบการภาคอื่นได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า จะพิจารณาจัดสรรพื้นที่ให้ภายในวันที่ 23 ตุลาคม จากนั้นจะเสนอมิลค์บอร์ดพิจารณาเห็นชอบการจัดสรรสิทธิ์การจำหน่ายวันที่ 24 ตุลาคม แล้วประกาศผลการจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายวันที่ 26 ตุลาคม เพื่อให้ผู้ประกอบการไปทำสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานที่จัดซื้อให้เสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2561 วันที่ 1 พฤศจิกายน โดยหน่วยงานที่จัดซื้อนมโรงเรียนรัฐบาลและเทศบาลคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนโรงเรียนเอกชนดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งจะต้องรายงานยอดการใช้น้ำนมจากศูนย์รวบรวมนม ยอดการผลิตรายเดือน ยอดการส่งมอบผลิตภัณฑ์นมไปยังโรงเรียนแก่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนทุก 15 วัน ซึ่งภาคเรียนนี้จะตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดข้อร้องเรียนว่า แจ้งตัวเลขรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรอันเป็นเท็จ.-สำนักข่าวไทย