รร.รามาการ์เด้นส์ 18 ต.ค. – กรมส่งเสริมสหกรณ์ประชุมตัวแทนสหกรณ์เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา จับมือเอกชนสานพลังประชารัฐสนับสนุนช่องทางตลาด
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โดยมีตัวแทนสหกรณ์ 250 แห่งในพื้นที่ 33 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ มี 5 หน่วยงานทั้งจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดลงพื้นที่ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและมาตรการจูงใจเพื่อเชิญชวนเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 33 จังหวัด ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
นายพิเชษฐ์ ย้ำว่าโครงการนี้ใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาขับเคลื่อนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร โดยสหกรณ์การเกษตรจะทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต ตั้งแต่การประสานหน่วยงานเข้ามาอบรมถ่ายทอดความรู้ การปลูกข้าวโพดให้กับเกษตรกร การจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพและจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรมาบริการเกษตรกร การรวบรวมผลผลิตข้าวโพดเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.ให้เกษตรกรกู้ยืม เพื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตและเตรียมแปลง ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ระยะเวลา 6 เดือน รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อให้สหกรณ์และสถาบันเกษตรกรกู้ยืมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนรวบรวมข้าวโพดจากเกษตรกรดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 พร้อมทั้งสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติจะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท เพิ่มจากค่าชดเชยกรณีผลผลิตเสียหายจากภัยพิบัติไร่ละ 1,113 บาทต่อไร่ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง
สำหรับการประชุมชี้แจงครั้งนี้ได้มีการนำเสนอขั้นตอนการขอรับสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนการปลุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรรายย่อยทั่วไปสามารถแจ้งความประสงค์ขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ได้โดยตรงและเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์สามารถแจ้งความประสงค์ขอกู้เงิน ธ.ก.ส.ผ่านสหกรณ์ที่ตนเองสังกัด โดยมีตัวแทนสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด จังหวัดพิษณุโลก และตัวแทนสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาร่วมนำเสนอประสบการณ์ด้านการผลิตและการตลาด ที่ได้เริ่มทดลองทำไปก่อน ซึ่งมั่นใจว่าการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะให้ผลตอบแทนดีกว่าการปลูกข้าว
“การดำเนินโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังที่จะสร้างสมดุลของปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง แล้วหันมาปลูกพืชทดแทนที่มีศักยภาพและสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดได้ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ปีละ 8.25 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณข้าวโพดที่ผลิตได้ปัจจุบันมีเพียง 3.37 ล้านตัน โครงการนี้ดำเนินตามนโยบายตลาดนำการผลิตและกลไกสหกรณ์จะมีส่วนสำคัญขับเคลื่อนโยบายนี้ประสบผลสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร โดยสหกรณ์การเกษตรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือกับภาคแอกชน ตามแนวทางประชารัฐในการเจรจากับภาคเอกชนในการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าตามราคาประกาศของกระทรวงพาณิชย์และอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ.2560 และกำหนดจุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจได้ว่าการปลูกข้าวโพดหลังนาจะมีตลาดรองรับที่แน่นอนและขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำและดูแลตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย