กรุงเทพฯ 13 ก.ย.-วสท.เผยอาคารในกรุงกว่า 15,000 อาคารต้องเร่งตรวจ สอบโครงสร้างโดยเฉพาะจุดจราจรหนาแน่น พบ 4,000 อาคารไม่ส่งแบบตรวจสอบประจำ แนะหน่วยงานเร่งรัดให้ดำเนินการป้องกันความเสียหาย เตรียมเสนอ ก.มหาดไทยเพิ่มเติมกฎกระทรวงบังคับก่อสร้างต้องทนทานลดค่าใช้จ่ายของประชาชน
สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)แถลงข่าวกรณี “กันสาดพาณิชย์ถล่ม สัญญาณเตือนภัยอาคารเก่า” โดยรศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท.กล่าวว่า การถล่มของอาคารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตัวกันสาดที่ถล่มลงมานั้น เป็นพื้นที่รับน้ำฝนและอุ้มน้ำส่งผลให้เกิดการกดทับน้ำหนักและกัดเซาะโครงสร้างและอาคารไม่มีความสมบูรณ์ของโครงการจึงทำให้ตัวโครงส้รางค่อยๆเกิดความเสียหายแต่ผู้อยู่อาศัยไม่ได้สังเกตและไม่มีการซ่อมแซมปรับปรุง โดยจากการสังเกตพบว่าโครงสร้างของตัวอาคาร และตัวตึกเป็นโครงสร้างระบบที่ต่างกัน จึงทำให้ขาดความมั่นคงแข็งแรง
เลขาธิการ วสท.กล่าวต่อว่า อาคารที่เสี่ยงต่อการถล่มมักขาดการคุณสมบัติดังนี้ ขาดความมั่นคงแข็งแรง การวางโครงสร้างไม่พอดี ดำเนินการก่อนที่พ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 จะออกกฎหมาย เป็นอาคารเก่า โดยตามหลักจะต้องมีการตรวจสอบเช่นตรวจสอบความเสื่อม สภาพของโครงสร้างเหล็กเสริม การสูญเสียเสถียรภาพ รอยแยก แตกร้าว ทั้งนี้อาคารเก่าไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะถล่มเสมอไปหากประชาชนที่อาศัยอยู่ในอาคารดูแลและตรวจสอบอาคารเป็นประจำ และหากพบว่าเกิดความเสียหายจะต้องมีผู้เชียวชาญเข้ามาตรวจสอบแก้ไขจุดบกพร่อง
ด้าน รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า อาคารแต่ละประเภทนั้น ไม่มีวันหมดอายุ หากมีการตรวจสอบและปรับ ปรุงอย่างสม่ำเสมอ เพราะการบำรุงรักษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาคาร มีอายุการใช้งานนานขึ้น โดยเฉพาะอาคารที่ต้องตรวจสอบตามกฎหมายกระทรวงโดยผู้เชี่ยวชาญ 9 ประเภท อาทิ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษฯลฯ ต้องตรวจสอบสมรรถนะเพื่อต่อใบอนุญาตทุกปี โดยจากการตรวจสอบพบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอาคารกว่า 15,000 อาคารที่มีพื้นที่ใช้สอย 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปเข้าข่ายที่ต้องทำการตรวจสอบอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในจุดที่มีสภาพการจราจรหนาแน่น เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซค์มีผลกัดกร่อนทำให้สึกหรอเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่าในกรุงเทพฯมีอาคารเลี่ยงส่งผลตรวจสอบต่อหน่วยงานท้องถิ่นมากถึง 4,000 อาคาร ซึ่งหน่วยงานท้องที่จำเป็นจะต้องบังคับให้เร่งตรวจสอบและส่งแบบสำรวจเพื่อป้องกันการพังถล่ม โดยตามหลักกฎหมายอาคารที่ก่อสร้างเสร็จจะต้องตรวจสอบเมื่อใช้งานครบ 1 ปีและตรวจสอบซ้ำทุกปี รวมทั้งต้องตรวจสอบครั้งใหญ่ทุกๆ 5 ปีเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของอาคาร ทั้งนี้ยังพบว่าสะพานจำนวนกว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศไทยระยะทาง 490 กม.ซึ่งเป็นอาคารที่มาอายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปีต้องเสริมกำลังการรองรับน้ำหนักบรรทุกให้มากขึ้นถึง 50 ตัน
อย่างไรก็ตามในอนาคต วสท.อยู่ระหว่างเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเพิ่ม เติมและออกกฎหมายกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยจะกำหนด ให้อาคารจะต้องมีความทนทานสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกตลอดการใช้งาน โดยไม่ต้องให้ประชาชนแบกรับค่าซ่อมบำรุงที่สูงเกินไปเพื่อกระตุ้นให้ผู้ออกแบบใช้วัสดุที่มีคุณภาพไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ซึ่งคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ประมาณปี 2560.-สำนักข่าวไทย