เปิดรายจ่ายด้านการศึกษา พบงบเพิ่ม แต่คุณภาพถดถอย

กทม. 11 ต.ค.-  เปิดรายจ่ายด้านการศึกษาปี 51-59 พบงบเพิ่มทุกปี เเต่คุณภาพถดถอย ความเหลื่อมล้ำงบรายหัวมีมาก ห่างกัน 3 เท่า  สพฐ.ยอมรับที่ผ่านมา จัดสรรงบโดยไม่อิงพื้นที่ 


นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนา “เจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย “ ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพเเละการศึกษาของนักเรียน ที่กสศ.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเเละธนาคารโลกจัดขึ้น เพื่อนำเสนอสถานการณ์รายจ่ายด้านการศึกษาที่จะนำไปสู่การเเก้ปัญหาเเละข้อเสนอเเนะด้านนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


นายชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพเเละการศึกษาของนักเรียน กล่าวว่า ได้จัดทำข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษา ปี 2551-2559 พบว่า  รายจ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ใช้งบประมาณลงทุนปี 59 มากที่สุด เป็นเงิน 878,878 ล้านบาท เฉลี่ยเป็นรายจ่ายภาครัฐ 684,497 ล้านบาทเเละเป็นรายจ่ายครอบครัวเกือบ 2 เเสนล้านบาท ซึ่งถือได้ว่ารายจ่ายด้านการศึกษาของไทย คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของGDP มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่ร้อยละ 5.2 ของGDP

โดยมีรายจ่ายต่อคนต่อปีสูงถึงปีละ 56,538 บาท สูงกว่ารายจ่ายด้านสุขภาพเฉลี่ยต่อประชากรคนละ 7,354 บาทต่อปีหรือคิดเป็น 7.6 เท่า


เเต่คุณภาพการศึกษายังถดถอย เพราะผลคะเเนนการทดสอบทางการศึกษาเเห่งชาติหรือคะแนนPISA อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเเละมีเเนวโน้มลดลง

หากเจาะลึกรายจ่าย ภาครัฐลงทุนด้านการศึกษามากกว่าเอกชนในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาสูงสุดร้อยละ 35 รองลงมาระดับมัธยมศึกษาเเละอุดมศึกษาร้อยละ 21 ขณะที่ระดับก่อนประถมศึกษาร้อยละ 9 และระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 5 ทั้งที่เป็นความต้องการของประเทศ โดยรายจ่ายด้านการศึกษา ร้อยละ 74ของงบการศึกษาเป็นรายจ่ายในหมวดบุคลากร เพราะ 3 ใน 4 ของครูทั้งหมด ได้รับค่าวิทยฐานะเเละครูส่วนใหญ่มีอายุราชการเฉลี่ยสูง 

ขณะที่ 5 อันดับจังหวัดที่ได้รับเงินอุดหนุนมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เเละขอนแก่น ส่วนจังหวัดที่ได้รับเงินน้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 

นายชัยยุทธ กล่าวอีกว่า สภาพความเป็นจริงการกระจายงบประมาณในเเต่ละพื้นที่ยังมีความเเตกต่างค่อนข้างมาก งบประมาณเฉลี่ยเเต่ละจังหวัดมีความเเตกต่างมากถึง 3 เท่า  ขณะที่บางจังหวัดนักเรียนได้รับงบประมาณรายจ่ายการศึกษาอยู่ที่ 27,145 บาท เเต่อีกจังหวัดได้รับสูงถึง 74,757 บาทต่อคนต่อปี โดยความเหลื่อมล้ำการจัดสรรทรัพยากรไม่ได้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจเเละสังคมในเเต่ละพื้นที่ ซึ่งทำให้เห็นว่า จังหวัดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนที่ยากจนที่สุด ไม่ใช่จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบที่สูงกว่าจังหวัดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า การจัดสรรงบยังใช้รูปเเบบเดียวกันเเละอัตราที่เท่ากันทั่วประเทศ เเต่พื้นที่ โรงเรียนหรือเยาวชนเเต่ละเเห่งมีความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งหากจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นความเสมอภาคมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยบรรลุเป้าหมายด้านประสิทธิภาพเเละความเสมอภาคไปพร้อมกัน เพราะได้รับการจัดสรรตามความจำเป็น เเละรัฐจะประหยัดเงินจากรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ เพราะการเหลื่อมล้ำ เกิดจากการบริหารจัดการทรัพยากรของภาครัฐ เดิมรัฐมีงบเรื่องความเหลื่อมล้ำเกือบ 3 หมื่นล้านบาท เเต่ไปที่เด็กเเค่ร้อยละ 30 ซึ่งถือว่างบนี้ยังไม่ได้พุ่งเป้าไปที่เด็กจริงๆ

ขณะที่นายสนิท เเย้มเกสร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.ได้พัฒนาคุณภาพการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยในเรื่องรายจ่าย กระทรวงศึกษาธิการมีรายจ่ายด้านการศึกษาปีละ 5 เเสนล้านบาท โดยการคิดงบประมาณรายหัวของเด็กได้ประเมินถึงความเหมาะสม เเต่จะตัดสินใจฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงต้องพึ่งงานวิจัยเชิงลึก เพื่อใช้ในการพิจารณางบประมาณในการช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยอมรับว่าที่ผ่านมา การดำเนินงานยังไม่ถึงเป้าหมายที่อยากจะเห็นการศึกษาที่เท่าเทียมกัน การอนุมัติเงินงบประมาณมีการอิงพื้นที่น้อยเกินไป เพราะในเเต่ละจังหวัดเเตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ให้งบประมาณเท่ากันอาจจะทำให้ช่วยเหลือเด็กได้ไม่เท่ากัน จากนี้หลังได้ศึกษางานวิจัยจะต้องพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งร่วมกับสำนักงบประมาณ เพื่อระดมความคิดการให้งบประมาณอีกครั้ง โดยยึดเรื่องความจำเป็นพื้นฐานเเละจะช่วยเหลืออย่างไรให้มีคุณภาพเเละประสิทธิภาพ

 

ด้านนายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มแย่ลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยคุณภาพการศึกษาถดถอยลง ทั้งๆ ที่งบประมาณต่อนักเรียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48 ระหว่างปี 2010-2013 ซึ่งปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาส่วนใหญ่เกิดจากระดับประถมโดยมีค่าใช้จ่ายนักเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกัน โดยประเทศไทยใช้จ่ายสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ภายในกลุ่มเชื้อชาติ (EAP) และสูงที่สุดเป็นอันดับ 20 จาก 112 ประเทศในโลกที่มีการรายงานสถิติ 

ขณะเดียวกัน การจัดสรรครูที่ขาดประสิทธิภาพเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการจัดสรรงบประมาณในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสัดส่วนนักเรียนต่อครูในระดับประถมศึกษาของไทยอยู่ที่ 17 ต่อ 1 ซึ่งไม่ถือว่าสูงเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ โดยถือว่าอยู่ใกล้เคียงกับประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี แคนาดาและสหราชอาณาจักร 

ไทยมีจำนวนครูในระดับที่พอเหมาะกับจำนวนนักเรียน แต่ยังขาดประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรครูทำให้กว่าครึ่ง ห้องเรียนในระดับประถมขาดแคลนครูขั้นระดับวิกฤตและห้องเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนมากนี้เป็นสาเหตุหลักของความถดถอยด้านคุณภาพการศึกษา ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ มักได้รับการจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงพอและนักเรียนด้อยโอกาสส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งย่ำแย่ไปอีก ทั้งนี้หากสพฐ.สามารถควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กตามแผน จะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้มากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะจากเงินเดือนครูและมาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้แก่ผู้เรียนเป็นอย่างมากโดยจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น-ภาคใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น เตือนภาคใต้ตอนล่างฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ภรรยาหมอบุญมอบตัว

“ภรรยา-ลูก” หมอบุญ อ้างถูกปลอมลายเซ็น ไม่เคยรู้การกระทำใดๆ

ทนายความภรรยา-ลูก หมอบุญ เผยถูกปลอมลายเซ็นเอกสาร ไม่เคยรับรู้การกระทำใดๆ ของหมอบุญ โดยภรรยาได้หย่าร้างกับหมอบุญ ก่อนปี 66

น้ำผุดเชียงดาว

น้ำใต้ดินผุดท่วมอ่วม “บ้านเรือน-พื้นที่เกษตร” อ.เชียงดาว

มวลน้ำมหาศาลผุดขึ้นจากใต้ดิน เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เกษตร และบ้านเรือนประชาชน หลายหมู่บ้าน ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำบางจุด ท่วมบ้านเกือบถึงหลังคา พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 400 ไร่