กทม. 5 ต.ค.-คับข่าวมีของ พาไปดูการสานต่องานด้านทันตกรรม หนึ่งในนั้นคือ โครงการฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 จากจุดเริ่มในปี 50 ที่มีโครงการ และทรงพระราชทานชื่อ “ฟันยิ้ม” สู่รากฟันเทียม “ข้าวอร่อย” ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยและพัฒนารากฟันเทียมโดยคนไทย
ผู้สูงอายุวัย 69 ปี คนนี้ กลับมาที่ศูนย์ทันตกรรมแอดเทคอีกครั้ง เพื่อตรวจฟันกรามน้อยข้างซ้าย ที่เพิ่งได้รับการฝังรากฟันเทียม จากโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เขาเล่าว่า ฟันกรามน้อยที่ใช้เคี้ยวอาหารแตก และรักษาไม่ได้แล้ว เพราะรากฟันได้รับความเสียหาย จึงต้องถอนฟันออก ทำให้มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร ที่ผ่านมาจะรักษาด้วยการฝังรากฟันเทียม แต่ค่ารักษาที่สูงหลายหมื่นในวัยเกษียณ ทำให้ต้องคิดหนัก
รากฟันเทียม ในโครงการนี้ ทำจากโลหะไทเทเนียม ซึ่งเกิดจากการวิจัยและพัฒนา หลังจากในหลวง รัชกาลที่ 9 รับสั่งต่อคณะทันตแพทย์ผู้เข้าถวายการรักษาว่า ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีรากฟันเทียม จนสามารถผลิตรากฟันเทียมโดยฝีมือคนไทย และจดสิทธิบัตรในชื่อ ตัวฝังยึดในกระดูกแบบเกลียว ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้หลายเท่า รากฟันเทียมจะถูกนำมาใช้ทดแทนรากฟันธรรมชาติ ฝังลงไปในกระดูกขากรรไกร ใช้เป็นหลักยึดฟันปลอม ให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าฟันธรรมชาติ
ฟันกรามถือว่ามีความสำคัญต่อการบดและเคี้ยวอาหารมาก ซึ่งการรักษา เช่น การฝังรากฟันเทียมในผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาสูญเสียฟันกราม นอกจากจะช่วยเรื่องการบดเคี้ยวอาหารแล้ว ยังทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขด้วย
ที่ปรึกษาโปรแกรมบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งเคยเป็นทันตแพทย์ผู้ถวายการรักษาในหลวง รัชกาลที่ 9 เล่าว่า เมื่อครั้งที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพและทีมทันตแพทย์ถวายการรักษาพระทนต์ ด้วยการฝังรากฟันเทียม ทำให้พระองค์ทรงระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงใส่พระทนต์ปลอม และจะรู้สึกเจ็บ เมื่อเสวยอาหาร จึงทรงคิดว่าหากในสมัยก่อนมีการรักษาด้วยการฝังรากฟันเทียม จะช่วยทำผู้สูงอายุกินอาหารอร่อย และมีความสุข
ความห่วงใยผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการบดเคี้ยว ทำให้ที่ผ่านมาในปี 50 กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พร้อมกระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรก ในครั้งนั้น ทำรากฟันเทียม เพื่อยึดติดกับฟันปลอม โดยฟังรากฟันเทียมบริเวณขากรรไกรล่าง 2 ราก ให้ผู้สูงอายุ 10,000 คน โดยคณะทันตแพทย์ทูลขอพระราชทานชื่อ และเมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทอดพระเนตรที่แบบจำลอง ก่อนแย้มพระสรวล และรับสั่งว่า ฟันยิ้ม นี่จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการฟันยิ้ม ต่อมาทรงพระราชทานชื่อรากฟันเทียมว่า ข้าวอร่อย เพื่อใช้ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโครงการถัดมาเมื่อปี 54
ส่วนโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในปี 61 มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศกว่า 900 คน รวมรากฟันเทียมทั้งหมด 1,417 ราก ขณะที่ในปีนี้เตรียมอบรากฟันเทียมให้ผู้สูงอายุอีก 700 คน พร้อมตั้งเป้า 3 ปี จะฝังรากฟันเทียมผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส 6,000 คน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 และให้ผู้สูงอายุมีความสุขในการดำรงชีวิต โดยนวัตกรรมที่ไทยผลิตขึ้นเอง.-สำนักข่าวไทย