อย.5 ต.ค.-อย.เผยขณะนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์เนื้อวัวฉีดไขมันได้รับอนุญาตจาก อย.แต่ได้วางแนวทางพิจารณาไว้แล้ว โดยสารที่ฉีดต้องมีความปลอดภัยตามประกาศ สธ.ว่าด้วยเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร และต้องแสดงฉลากแจ้งผู้บริโภคทราบเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ที่แพ้สารฉีดนั้น
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อวัวฉีดไขมันทางสื่อออนไลน์ ซึ่งมีผู้เกรงว่าจะมีความปลอดภัยหรือไม่นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า เนื้อฉีดไขมัน (Artificial Marbling beef) เป็นการฉีดของเหลวที่มีส่วนประกอบของไขมัน น้ำ และวัตถุเจือปนอาหาร โดยใช้เครื่องจักรหรือเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเข็มเข้าไปในเนื้อวัว ทำให้ได้เนื้อวัวที่มีลักษณะไขมันแทรก ซึ่งสถานที่ผลิตเนื้อฉีดไขมัน จะต้องปฏิบัติตามวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย (Primary GMP)
และการใช้วัตถุเจือปนอาหารในการผลิตเนื้อฉีดไขมัน ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่389 พ.ศ.2561เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่5) ตลอดจนต้องมีการแสดงฉลากให้ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีควรบริโภคก่อน ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร และข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เป็นต้น และต้องมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บนฉลากอาหารว่าเป็นเนื้อโคฉีดไขมัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อโคที่มีไขมันแทรกธรรมชาติ
ทั้งนี้ การฉีดไขมันในเนื้อโคต้องได้รับการเห็นชอบจาก อย.ก่อน โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้จำหน่าย จะต้องแสดงรายละเอียดของกรรมวิธีการผลิตในการฉีดไขมัน เงื่อนไขการใช้วัตถุเจือปนอาหารพร้อมเหตุผลการใช้และมาตรฐานอ้างอิง ซึ่งหากไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะต้องยื่นขอประเมินความปลอดภัยของวัตถุเจือปนอาหารก่อน รวมทั้งแสดงฉลากอาหาร แนวทางการควบคุมการผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย เช่น จำหน่ายเฉพาะร้านอาหาร หรือมาตรการป้องกันความเข้าใจผิดของผู้บริโภคว่า เป็นเนื้อโคที่มีไขมันแทรกธรรมชาติ ประกอบการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เนื้อโคฉีดไขมันแต่อย่างใด หากผู้ใดประสงค์จะผลิตหรือนำเข้า จะต้องขอความเห็นชอบจาก อย. ก่อน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท .-สำนักข่าวไทย