กรุงเทพฯ 5 ต.ค.-ศาลฎีกาฯ อนุญาตรวมสำนวนคดีโกงบ้านเอื้ออาทร “วัฒนา-อริสมันต์” นัดตรวจหลักฐาน ก.พ.62 ออกหมายจับ 4 จำเลยหลบหนี
วันนี้ (5 ต.ค.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลนัดพิจารณาครั้งแรกคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 , นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548-2549 , นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย , นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ , น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง , น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด , น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ, บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และบริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เป็นจำเลยที่ 1-9
ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 , 91
และคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรอีกสำนวน หมายเลขดำ อม.102/2561 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงศ์เรืองรอง อายุ 54 ปี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย , บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด และ น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนนายวัฒนา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด แก่ตนเองหรือผู้อื่น และสนับสนุนนายมานะ ซึ่งเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 91
ในวันนี้ นายวัฒนา , นายอริสมันต์ พร้อมพวกจำเลยที่ได้รับการประกันตัวและทนายความส่วนใหญ่เดินทางมาศาล เบิกตัวนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 4 และ น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5 ซึ่งถูกจำคุกในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจีจากเรือนจำ มาศาล ส่วน น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6, น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา จำเลยที่ 7 ในสำนวน อม.42/2561 กับ บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด จำเลยที่ 2, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 3 ในสำนวน อม.102/2561 ไม่มาศาล
ทั้งนี้ศาลอธิบายฟ้องและสอบถามจำเลยแล้ว จำเลยที่มาศาลทั้งหมดให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ไม่มาศาล ให้ถือว่าให้การปฏิเสธ และอัยการได้ขอให้รวมสำนวนคดี อม.42/2561 กับ อม.102/2561 เข้าเป็นคดีเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน ศาลสอบถามจำเลยแล้ว จำเลยไม่คัดค้าน
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ในคดี อม.102/2561 จำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้วไม่มีผู้แทนมาศาล จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ให้ออกหมายจับผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2-3 ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรวมสำนวนคดี เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์ร่วมกัน ตามที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งต่อศาลแล้ว มีข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการพิจารณา อนุญาตให้รวมคดีเข้ากับสำนวน อม.42/2561
สำหรับคดี อม.42/2561 จำเลยที่ 6-7 ไม่มาศาล ถือว่าให้การปฏิเสธ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 6-7 และตามที่โจทก์ขอรวมคดีกับสำนวน อม.102/2561 เพื่อสะดวกแก่การพิจารณา อนุญาตให้รวมคดี โจทก์และจำเลยคืออัยการสูงสุดกับจำเลยที่ 1-9 โดยจำเลยที่ 1-5 ในสำนวน อม.102/2516 ให้นับเป็นจำเลยที่ 10-14 ในคดี อม.42/2561 ตามลำดับ พร้อมกำชับให้จำเลยที่จะยื่นคำให้การปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ยื่นภายใน 30 วัน ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 12 และ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อสร้างแห่งใหม่ที่สนามหลวง เขตพระนคร
ศาลได้ชี้แจงเหตุผลด้วยว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 การพิจารณาลับหลังจำเลยที่หลบหนีและไม่สามารถติดตามตัวได้ต้องผ่านพ้นไปแล้ว 3 เดือน เพื่อการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปพร้อมกัน จึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย