จันบุรี 4 ต.ค.-ศาลจังหวัดจันทบุรีอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุรถตู้โดยสารชนกับรถกระบะจนมีผู้เสียชีวิต 25 ศพ เมื่อต้นปีที่แล้ว ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องบริษัทรถตู้ เนื่องจากไม่ใช่นายจ้างกับคนขับรถตู้โดยตรง และให้ บขส.ในฐานะผู้ให้สัมปทานเดินรถ พร้อมกับทายาทคนขับรถตู้ ร่วมชดใช้รวมเกือบ 30 ล้านบาท
ครอบครัวผู้เสียชีวิต 11 ครอบครัว จากเหตุการณ์รถตู้ชนรถกระบะ บนถนนสายบ้านบึง-แกลง เมื่อต้นปีที่แล้ว เดินทางมาฟังคำพิพากษาในคดีแพ่ง ที่ครอบครัวผู้เสียหายฟ้อง หจก.วีเจ ทรานสปอร์ต หรือ หจก.พลอยหยก ในขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 1 เจ้าของบริษัทรถตู้ จำเลยที่ 2 และบริษัทขนส่งจำกัด จำเลยที่ 3 คดีนี้เป็นการฟ้องคดีผู้บริโภค โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้การช่วยเหลือ ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวม 26 ล้านบาท ขณะที่ฝั่งจำเลยที่ 1 และ 2 ส่งทนายความมาแทน
ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 2 เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ลูกจ้างกันโดยตรง และให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วม คือทายาทคนขับรถตู้ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย เป็นค่าจัดงานศพ รายละ 180,000-200,000 บาท ค่าขาดงาน ตั้งแต่ 300,000-500,000 บาท/ราย และค่าเลี้ยงดูตั้งแต่รายละ 400,000-700,000 บาท
ครอบครัวของหญิงคนนี้ต้องสูญเสียลูกชายซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ เธอบอกว่า แม้จะชนะคดี แต่คู่กรณีก็ยังสามารถอุทธรณ์ได้ แต่ก็พอใจและยอมรับคำพิพากษาของศาล
ไม่ต่างจากครอบครัวไทยตรง ที่ต้องสูญเสียนายกันตินันท์ ไทยตรง ลูกชายที่พึ่งเรียนจบปริญาตรี กำลังจะเดินทางไปทำงานเป็นวันแรกที่กรุงเทพฯ แต่เกิดอุบัติเหตุขึ้นก่อน ทำให้ตลอดการต่อสู้คดี หวังว่าจะได้รับการชดเชยที่เป็นธรรมที่สุด
ทนายจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยว่า คดีนี้ถือเป็นคดีผู้บริโภคเกี่ยวกับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด หลังเกิดเหตุการณ์ ครอบครัวผู้เสียหายได้รับเงินชดเชยจากประกันเพียงครอบครัวละ 700,000 บาท การชนะคดีครั้งนี้จะเป็นกรณีศึกษาให้คดีอุบัติเหตุที่จากรถโดยสารคดีอื่นๆ ในอนาคต
คดีนี้เกิดขึ้นหลังจากรถตู้โดยสารสายจันทบุรี-กรุงเทพฯ พุ่งข้ามร่องกลางถนนชนกับรถกระบะ จนมีผู้เสียชีวิตรวม 25 คน เมื่อ 2 มกราคมปี 60 ทำให้กรมการขนส่งทางบกยกกรณีนี้มาศึกษา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถตู้โดยสาร
รถที่ขับบนถนนสายนี้ส่วนใหญ่ใช้ความเร็วสูง เพราะเป็นทางตรงยาวหลายกิโลเมตร หลังเกิดอุบัติเหตุรถตู้ชนกับรถกระบะ มีการติดป้ายเตือนผู้ใช้รถ ให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงซ้ำอีก
มีข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า อุบัติเหตุที่เกิดกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะส่วนมาก ครอบครัวผู้เสียหายมักไม่ค่อยได้รับการเยียวยาหรือดูแลจากผู้ประกอบการรถโดยสาร ส่วนใหญ่ได้รับเพียงเงินชดเชยจากบริษัทประกันเท่านั้น ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่าง ที่ครอบครัวผู้เสียหายจากการใช้รถโดยสารสาธารณะได้รับการเยี่ยวยามากที่สุดเกือบ 30 ล้านบาท โดยศาลมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษอีกรายละ 500,000 บาท เพราะเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นเกิดขึ้นจากความประมาณของคนขับด้วย.-สำนักข่าวไทย