สำนักข่าวไทย 3ตค..- หนุนเก็บภาษีบาป อุดช่องว่าง สปสช. ติงรัฐอย่าสองมาตรฐาน ต้องเก็บจากเหล้าด้วย ไม่ใช่เก็บเฉพาะบุหรี่ หวั่นธุรกิจน้ำเมาแทรกแซง เอื้อประโยชน์ตัวเอง
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังจะเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการภาครัฐ พ.ศ …ให้เก็บเงินสมทบจากสินค้าบุหรี่ 2 บาทเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า เหตุใดรัฐจึงเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน เก็บเฉพาะบุหรี่ประเภทเดียว แต่ไม่รวมสินค้าบาป สุรา เบียร์ และยาเส้น เหมือนกับการเก็บเงินภาษีเข้ากองทุนอื่นที่มีการตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่า และวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งๆที่น้ำเมาสร้างปัญหาให้สังคม ในหลากหลายมิติ มากกว่าบุหรี่ด้วยซ้ำ ไม่เพียงเป็นเหตุก่อให้เกิดโรคถึง200โรค ยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรม สร้างปัญหาสารพัดให้เยาวชน ทั้งเสียชีวิต เสียอนาคต ฯลฯ และล่าสุด องค์การอนามัยโลก(WHO) เพิ่งจะออกมาตรการ SAFER (WHO launches SAFER, a new alcohol control initiative www.who.int/substance_abuse/safer/en/) เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันแก้ปัญหาจากน้ำเมา 1ใน 5 มาตรการนั้นคือ การขึ้นภาษี ถ้ารัฐบาลอยากเพิ่มงบประมาณเพื่อการรักษาโรคของประชาชน ก็ไม่ควรละเว้นการเก็บภาษีเพิ่มจากน้ำเมาด้วย ได้ทั้งภาษี และลดปัญหาจากน้ำเมาตามแนวทาง WHO ดังกล่าว
ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีเพิ่มจากบุหรี่ซอง เพียงอย่างเดียวแบบนี้ ยิ่งทำให้ข้อครหาที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่ารัฐบาลเกรงใจนายทุนน้ำเมา ใกล้ความจริงมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะการที่ทุนเข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกกลไกรัฐ ในนามประชารัฐ ย่อมส่งผลให้มีการตัดตอนทางนโยบายที่กระทบกระเทือนกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่นเดียวกับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในครั้งนี้
“ถ้าจะเก็บภาษีบุหรี่ ก็ไม่ควรเว้นการเก็บภาษีเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ เนื่องจากสุราเป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพเหมือนกันกับบุหรี่ หากเก็บเฉพาะบุหรี่ ก็เท่ากับหาความชอบธรรมใดๆไม่ได้เลย ซึ่งเครือข่ายฯสนับสนุนนโยบายนี้และกฏหมายนี้ควรเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ด้วย เพื่อไปสนับสนุนช่องว่างในกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยหลักการคือต้องไปเก็บเพิ่มจากภาคธุรกิจไม่ใช่ผลักภาระให้กับประชาชนผู้เลยบริโภค นายทุนสินค้าบาปพวกนี้ควรต้องรับภาระไป เพราะผลกระทบทางสุขภาพและสังคมเกิดขึ้นจากสินค้าชนิดนี้มันมากมาย” นายคำรณ กล่าว .-สำนักข่าวไทย