กรมศิลปากร 3 ต.ค.-กรมศิลป์ฯ เผยโบราณวัตถุที่พบขณะบูรณปฏิสังขรณ์หอระฆังวัดพระยาทำ เป็นชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ โดยบ่ายนี้ ผอ.กองโบราณคดี จะนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนถึงการเก็บรักษา ขณะทำการบูรณะ
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวชาวบ้านมีข้อสงสัยถึงการเก็บรักษาโบราณวัตถุที่พบขณะทำการบูรณปฏิสังขรณ์หอระฆังวัดพระยาทำวรวิหาร และอาจมีโบราณวัตถุบางส่วนหายไปนั้น ว่า ในขั้นตอนการขุดฐานรากอาคารเพื่อเตรียมการเสริมความมั่นคงก่อนการปรับยกหอระฆัง โดยขุดชั้นดินลึกลงไปประมาณ 1.30 เมตร พบว่ามีการประดับตกแต่งส่วนฐานหอระฆังด้วยเศษกระเบื้องเคลือบจีนและพบชิ้นส่วนปูนปั้นประดับส่วนล่างของอาคาร จึงได้ดำเนินการบันทึกและเก็บหลักฐานตามกระบวนการทางโบราณคดี โดยบันทึกข้อมูลที่พบ ทำการถ่ายภาพ ทำแผนผัง ภาพลายเส้น
สำหรับโบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นเศษชิ้นส่วนที่ใช้ประดับหอระฆัง เช่น ฐานประดับกระเบื้องเคลือบ ประติมากรรมปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ กระเบื้องเคลือบลายเทพนมบนพื้นลายพันธุ์ไม้ เครื่องเคลือบเขียว-น้ำตาล (ถ้วยปลา)เครื่องเคลือบเขียว-น้ำตาล (ถ้วยปู) กระเบื้องเคลือบลายคราม กระเบื้องเคลือบลายมังกร เครื่องเขียนสีบนเคลือบ ไม่พบว่ามีพระเครื่อง เนื่องจากหอระฆังเป็นอาคารโปร่งอยู่นอกเขตพุทธาวาส และจากการขุดตรวจพื้นภายในหอระฆัง พบว่ามีการอัดพื้นด้วยดิน เศษอิฐ ซึ่งไม่พบว่าเป็นลักษณะของกรุพระตามที่เป็นข่าว
ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีประเภทโบราณวัตถุไว้อย่างชัดเจน โดยระบุตำแหน่งชิ้นส่วนกระเบื้อง พร้อมให้เลขหมายไว้บนชิ้นส่วนกระเบื้อง แต่ละชิ้น แยกเก็บหลักฐานตามตำแหน่งพื้นที่ที่พบ
‘กรมศิลปากรขอยืนยันว่าได้เก็บรักษาโบราณวัตถุทั้งหมดไว้ตามหลักวิชาการอย่างละเอียดรอบคอบและเคร่งครัด’ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
ขณะเดียวกัน เวลา 14.00 น.วันนี้ (3ต.ค.)นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี จะนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เข้าชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านชุมชนวัดพระยาทำวรวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการเก็บรักษาโบราณวัตถุที่พบขณะทำการบูรณปฏิสังขรณ์หอระฆังวัดพระยาทำวรวิหาร ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีประเภทโบราณวัตถุไว้อย่างชัดเจน โดยระบุตำแหน่งชิ้นส่วนกระเบื้อง พร้อมให้เลขหมายไว้บนชิ้นส่วนกระเบื้องแต่ละชิ้น แยกเก็บหลักฐานตามตำแหน่งพื้นที่ที่พบ และได้เก็บรักษาโบราณวัตถุทั้งหมดไว้ตามหลักวิชาการอย่างละเอียดรอบคอบและเคร่งครัด อย่างไรก็ตามอาจจะมีกระเบื้องประดับบางส่วนที่แตกหักหรือเสียหาย กรมศิลปากรจะนำโบราณวัตถุทั้งหมดที่พบนี้ เป็นต้นแบบของการบูรณะ และจัดทำชิ้นส่วนใหม่กรณีที่มีการแตกสลายไป .-สำนักข่าวไทย