กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – อนุฯ นมโรงเรียนปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียน เป็นทำสัญญาจะซื้อจะขายจริง เพื่อป้องกันการจดแจ้งอันเป็นเท็จ เริ่มภาคเรียน 2/2561 เสนอมิลล์บอร์ด 4 ต.ค.นี้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนตามที่คณะอนุกรรมการวิชาการของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) เสนอ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การจัดสรรสิทธิ์ภาคเรียนที่ 2/2561 ให้เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 15 ธันวาคม 2522 ซึ่งกำหนดว่าการจัดสรรปริมาณน้ำนมดิบและพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยยึดถือการจดแจ้งปริมาณน้ำนมดิบต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ ศักยภาพการผลิต การขนส่งที่มีมาตรฐาน โรงงานต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าเคยส่งนมเสียหรือนมคุณภาพต่ำหรือไม่ ซึ่งจะนำมาประกอบการพิจารณาลดการจัดสรรสิทธิ์
ทั้งนี้ ข้อกำหนดที่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนปรับจากเดิม คือ เมื่อผู้ประกอบการไปจดแจ้ง MOU การรับซื้อน้ำนมดิบที่จะใช้ผลิตทั้งนมโรงเรียนและนมพาณิชย์ต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการนมทั้งระบบแล้วจะต้องจดแจ้ง MOU ที่จะรับน้ำนมดิบมาผลิตนมโรงเรียนด้วย แต่ในภาคเรียนที่ 2 นี้เปลี่ยนเป็นให้แจ้งความประสงค์ว่าจะรับซื้อน้ำนมดิบมาผลิตนมโรงเรียนปริมาณเท่าไรต่อวัน รวมทั้งให้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายมาแสดงต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อยืนยันว่าจะมีการรับซื้อน้ำนมดิบในปริมาณที่จดแจ้งจริง ป้องกันไม่ให้มีการแจ้งตัวเลขสูง แต่ซื้อน้ำนมดิบน้อยกว่าที่แจ้ง เพื่อหวังจะขอสิทธิ์การจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามที่ผู้ประกอบการร้องเรียนกันเอง
สำหรับหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนนี้จะนำเสนอมิลค์บอร์ดพิจารณาวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) เมื่อมิลค์บอร์ดเห็นชอบ จากนั้นสัปดาห์หน้าจะประกาศรับสมัครผู้ประกอบการที่จะร่วมโครงการนมโรงเรียน จึงจะทราบปริมาณความต้องการนำน้ำดิบที่ผู้ประกอบการยื่นความจำนงเสนอเข้าโครงการว่าเป็นเท่าไร โดยปริมาณที่คณะอนุกรรมการบริหารนมโรงเรียนกำหนดไว้หรือไม่ นักเรียน 7,456,722 คนทั่วประเทศดื่มนมคนละ 200 มิลลิลิตรต่อวัน ภาคเรียนหนึ่งได้รับนมวันเปิดเรียน 100 วัน วันปิดภาคเรียน 30 วัน ต้องใช้น้ำนมดิบวันละ 1,169 ตัน หากปริมาณน้ำนมดิบที่ผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์เกินกว่าที่กำหนดไว้ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนจะพิจารณาจัดสรรสิทธิ์ให้แต่ละราย โดยยึดมติ ครม. ปี 2522 เป็นหลัก
อธิบดีกรมปศุสัตว์ คาดว่าการพิจารณาจัดสรรสิทธิ์จะทำสัปดาห์กลางเดือน จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนวันที่ 26 ตุลาคม
สำหรับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการศึกษาปรับระบบการจัดสรรสิทธิ์นมโรงเรียน ซึ่งนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายนิวัฒน์ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเสนอให้มีการทำประกันภัยแก่นักเรียนกรณีดื่มนมเสียแล้วเจ็บป่วย รวมถึงการนำใบเสร็จซื้อขายนมจากเกษตรกร รวมทั้งเอกสารการเสียภาษีแก่กรมสรรพากรมาเป็นหลักฐานยืนยันว่ารับซื้อน้ำนมดิบมาผลิตนมโรงเรียนตามที่จดแจ้งจริง คาดว่าจะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้ปีการศึกษา 2562 เนื่องจากการทำจัดสรรสิทธิ์และทำสัญญาของภาคเรียนที่ 2/2561 เหลือเวลาไม่มาก การเพิ่มหลักเกณฑ์บางประการไม่สามารถดำเนินการได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน.-สำนักข่าวไทย