กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – รมว.เกษตรฯ เร่งใช้เวลาที่เหลือ 1 เดือน เตรียมพร้อมทุกภาคส่วนดำเนินตามนโยบายสานพลังประชารัฐ หนุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการทำนาปรัง ตั้งแต่ พ.ย.นี้
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนไปยังผู้บริหารกระทรวง กรมต่าง ๆ อีกทั้งในวันนี้จะประชุมข้าราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อกำชับขั้นตอนการดำเนินโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาปี 2561 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยระดับอำเภอมีคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ นายอำเภอเป็นประธานและเกษตรอำเภอเป็นเลขานุการคณะทำงานและให้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) เป็น คณะกรรมการระดับจังหวัด
นายกฤษฎา กล่าวว่า เป็นโครงการแรกของการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภาคการเกษตรของไทย ด้วยการวางแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ จึงประสานไปยังคณะทำงานระดับอำเภอให้เร่งออกประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและเชิญชวนชาวนาในพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาปรังมาปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ตามความเหมาะสมของคุณภาพดิน ทั้งในและนอกเขตชลประทานรวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ อีกทั้งมอบหมายสหกรณ์จังหวัดรวมกลุ่มสหกรณ์การเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ และให้สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนชนรวบรวมเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกมาเพาะปลูกในระบบเกษตรแปลงใหญ่ กำชับให้เกษตรอำเภอนำเรื่องการเชิญชวนปลูกพืชอื่น ๆ แทนการทำนาปรังเข้าประชุมชี้แจงที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านภายในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นให้เกษตรจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการส่งคณะวิทยากรจัดการอบรมให้ความรู้ในการปลูกข้าวโพด การลดต้นทุน และการรักษาแปลงให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
ด้านการตลาดนั้น โครงการนี้รับซื้อผลผลิตทุกเมล็ด โดยมีคณะอำนวยการของกระทรวงเกษตรฯ ประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งภาคเอกชนเพื่อเข้าไปทำสัญญารับซื้อข้าวโพดล่วงหน้ากับเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรอย่างเป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องระบุข้อตกลงในรายละเอียดการทำสัญญารับซื้อให้ชัดเจนทั้งราคารับซื้อ จุดรับซื้อ จำนวนและคุณภาพข้าวโพดที่จะรับซื้อรวมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นภาคหรือกลุ่มจังหวัดแล้วให้เอกชนแต่ละรายเข้าไปทำสัญญารับซื้อ แสดงให้เห็นว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้เอื้อแก่เอกชนรายใดรายหนึ่งให้ผูกขาดหรือเอาเปรียบเกษตรกร
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เกษตรกรต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับราคาและเงื่อนไขการรับซื้อผลผลิต รวมทั้งปริมาณความต้องการผลผลิตของตลาดก่อนตัดสินใจลงมือเพาะปลูก ดังนั้น หากภายในเดือนตุลาคมนี้พื้นที่ใดยังไม่มีภาคเอกชนเข้าไปทำสัญญารับซื้อข้าวโพดตามหลักการที่กำหนดไว้ให้ยกเลิกโครงการในพื้นที่นั้น ๆ เพราะกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีนโยบายให้เกษตรกรทำการเกษตรหรือประกอบอาชีพแบบสุ่มเสี่ยงอีกต่อไป.-สำนักข่าวไทย