กรุงเทพฯ 28 ก.ย. – เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อน 136 แห่ง ใช้โอกาสช่วงปลายฝน -ต้นหนาว มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง-ภาคตะวันออก ปะทะมวลอากาศเย็นจากจีนฝนจะชุกอีกระลอกเกือบทุกภาค ช่วง 28 ก.ย.-1 ต.ค.
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยว่า ระหว่างนี้จนถึง 1 ต.ค. 61 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง จากร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ปะทะกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมา โดยจะเริ่มภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย โดยทำหนังสือแจ้งไปยัง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมชลประทาน และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่เป็นผู้รับผิดชอบแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลาง และ เล็ก รวมถึงหนองบึง ที่มีความจุน้อยกว่า 60% รวมทั้งสิ้น 53 อ่างฯ บริเวณภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ เลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ สกลนคร และอุดรธานี เพื่อให้มีการติดตามและสำรวจปริมาณน้ำเก็บกักปัจจุบัน
ทั้งนี้ หากมีน้ำน้อยและคาดว่าจะไม่เพียงพอในฤดูแล้งต้องพิจารณาแผนเก็บกักน้ำจากปริมาณฝนที่ตกลงในอ่างฯ โดยตรง ปรับลดการระบายน้ำ การสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเติมน้ำในอ่างฯ ช่วงที่คาดการณ์ฝนจะตกเพิ่มขึ้น พร้อมแจ้งประชาชนและเกษตรกรเตรียมเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำของตัวเองเพื่อใช้ในฤดูแล้ง รวมถึงประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการฝนหลวงโดยด่วน และรายงาน สทนช.เพื่อติดตามผล และรายงาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย
นายสำเริง กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% มี 136 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 9 แห่งในภาคเหนือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 42% เขื่อนแม่มอก 27% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนมูลบน 54% เขื่อนห้วยหลวง 50% เขื่อนลำนางรอง 34% เขื่อนอุบลรัตน์ 33% ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว 41% เขื่อนทับเสลา 27% ภาคใต้ เขื่อนบางลาง 47% ขนาดกลาง 127 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 66 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 6 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 18 แห่ง ขณะที่อ่างฯเฝ้าติดตามน้อยกว่า 30% มีทั้งสิ้น 35 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก 27% เขื่อนทับเสลา 27% ขนาดกลาง 33 แห่ง เป็นภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง.-สำนักข่าวไทย