กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำ เตรียมเก็บน้ำเขื่อนทั่วประเทศใช้หน้าแล้ง หลังมีเขื่อนน้ำน้อยกว่า 30% ถึง 34 แห่ง เร่งประสานฝนหลวงเติมน้ำลงเขื่อน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตรวจสอบสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทาน 427 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 25 แห่ง และขนาดกลาง 412 แห่ง พบว่ามีอ่างเก็บน้ำน้อยกว่า 60% จำนวน 138 แห่ง แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 128 แห่ง แต่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ คือ อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ซึ่งมี 34 แห่ง แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง27%) และอ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.สุพรรณบุรี มีน้ำ 26% ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 32 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง
นายทองเปลว กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งจะสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม การส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตรยังคงดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ แต่หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้วจะทบทวนปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อพิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำเหมาะสมสำหรับหน้าแล้ง รวมถึงที่ต้องสำรองไว้จนถึงต้นฤดูกาลเพาะปลูกหน้าต่อไป
ทั้งนี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำ เพื่อเตรียมเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้มีการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายทำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 60% ของความจุอ่าง ซึ่งกรมชลประทานและกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ทำงานร่วมกันตลอดภายใต้โครงการความร่วมมือปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำ และยังเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อุปโภค-บริโภค พร้อมทั้งวางแผนปรับเปลี่ยนการปลูกพืชฤดูแล้งนี้ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบสถานการณ์น้ำ
ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ที่ยังมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์สามารถระบายน้ำขั้นต่ำสุดได้ตามความเหมาะสมกับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาให้เริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่ง เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่อาจตกชุกบางพื้นที่ โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่และปริมาณน้ำที่เกิดจากฝน.-สำนักข่าวไทย