ราชบพิธ 15 ก.ย. – หอการค้าไทยเผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 สูงสุดในรอบ 9 ปี เป็นหนี้ 298,000 บาทต่อครัวเรือน หนี้ในระบบร้อยละ 62.3 หนี้นอกระบบร้อยละ 37.7
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย 2559 ว่า สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2559 สูงสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 โดยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 298,005.81 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ถือว่าเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี ด้านการผ่อนชำระต่อเดือนก็สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 9 ปีเช่นกัน ผ่อนเดือนละกว่า 14,889 บาท โดยเป็นภาระหนี้จากรถคันแรก ส่งผลให้มีหนี้สินอื่น ๆ ตามมา ภาระหนี้ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 83-84 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้ประชาชน ขณะที่ประชาชนก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีปัญหาต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ บวกกับปัญหาภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ครัวเรือนมีทรัพย์สินหนุนหลัง เช่น บ้าน รถยนต์ ทั้งนี้ ผลจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ส่งผลให้การกู้ยืมเงินของประชาชนนอกระบบปรับตัวลดลง สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไม่น่าเป็นห่วงเพราะปรับลดลง และคาดว่า 3 ปีข้างหน้า ภาระหนี้ครัวเรือนจะลดลงอยู่ในระดับร้อยละ 80 ของจีดีพี
สำหรับผลงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวรัฐบาลได้คะแนนแก้ไขปัญหา 8 เต็ม 10 เพราะการแก้ไขยังไม่กระจายตัวออกไปในวงกว้าง สำหรับปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตในกรอบร้อยละ 3.3-3.5 ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นเหนือคาด และมีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละต่อ 5 ปี นับเป็นการวางกรอบเศรษฐกิจระยะปานกลาง
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเผชิญโจทย์ยากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การเบิกจ่ายยังล่าช้า การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เงิน 100,000-200,000 ล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ล่าสุดที่ระดับร้อยละ 3.4 นับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เหนือคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีผลงานที่สามารถแปลงหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบได้เพิ่มขึ้นจากไมโครไฟแนนซ์ และการที่ประชาชนระมัดระวังไม่ก่อหนี้มากขึ้น จึงมองว่าอัตราการเพิ่มหนี้ครัวเรือนล่าสุด มีอัตราชะลอตัวลง หากรัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 4 ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นและยังช่วยให้ภาระหนี้ครัวเรือนลดลง
ส่วนกรณีที่จะมีการเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาทต่อวันนั้น ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เห็นว่า สูงไป อย่างไรก็ตาม ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศไม่ได้รับการปรับขึ้นมานาน 3 ปี ส่วนค่าแรงในเขตกรุงเทพฯ ไม่ได้รับการปรับขึ้นมาแล้ว 4 ปี ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นมาตลอด จึงไม่แปลกที่ลูกจ้างขอปรับค่าแรงขึ้นไปอีก โดยการขอเพิ่มค่าแรงจาก 300 บาท เป็น 360 บาทต่อวัน คิดเป็นค่าแรงที่ขอเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 20 ในช่วง 4 ปี หรือเท่ากับขอขึ้นปีละร้อยละ 5 แต่นายจ้างคงไม่พร้อมที่จะจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นในระดับที่ขอมา อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรจะปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15 บาท โดยการปรับขึ้นควรแตกต่างแต่ละพื้นไม่ควรปรับขึ้นเท่ากัน ควรเป็นการตกลง 3 ฝ่าย เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี ไม่ควรขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ
สำหรับผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1-12 กันยายน 2559 พบว่า ภาคครัวเรือนในภาพรวมร้อยละ 85.7 มีภาระหนี้สิน ส่วนที่ไม่มีหนี้ คิดเป็นร้อยละ 14.3 เท่านั้น โดยหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายทั่วไปคิดเป็นร้อยละ 24.1 รองลงมา คือ หนี้ซื้อทรัพย์สินโดยเฉพาะรถยนต์ร้อยละ 19.4 และหนี้จากการลงทุนประกอบอาชีพร้อยละ 16 ภาระหนี้สินโดยรวมต่อครัวเรือนอยู่ที่ 298,005.81 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 14,889.70 บาท โดยเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 62.3 ผ่อนเดือนละ 11,278.86 บาท หนี้นอกระบบคิดเป็นร้อยละ 37.7 ผ่อนเดือนละ 10,279.27 บาท ส่วนลักษณะหนี้ปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 59.3 ระบุว่าเป็นหนี้ก้อนเก่า รองลงมาร้อยละ 27.9 ระบุว่าเป็นหนี้เก่าทั้งหมด ขณะที่ร้อยละ 12.8 ระบุว่า เป็นหนี้ก้อนใหม่ทั้งหมด
ส่วนสาเหตุการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนส่วนใหญ่ร้อยละ 18.8 ระบุว่า เป็นหนี้จากการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น เช่น บ้าน รถ เป็นต้น รองลงมาร้อยละ 18.2 การผ่อนสินค้ามากไปและมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก ร้อยละ 12.8 ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 74.8 ระบุด้วยว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเคยประสบปัญหาการขาดการผ่อนชำระหรือผิดนัดชำระ สาเหตุเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เศรษฐกิจไม่ดี ได้รับเงินค่าจ้างไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดส่งผลให้หมุนเงินไม่ทัน ต้องจ่ายหนี้ที่ถูกทวงถามเป็นอันดับแรก ส่วนผู้ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 25.2 -สำนักข่าวไทย