สำนักข่าวไทย 21 ก.ย.- นายกสมาคมคนพิการฯ เผยมีการทุจริตเงินคนพิการจริง โดย บริษัทเอกชน-คนพิการโกงกันเอง แต่มูลค่าความเสียหายไม่ถึง 1.5 พันล้าน เหตุที่ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการออกมาร้องคาดอาจถูกขัดผลประโยชน์
นายศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงกรณีที่นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ออกมาร้องเรียนว่ามีการทุจริตการจ้างงานคนพิการ ทั้งหักค่าจ้างหัวคิว ตัวเลขจ้างงานไม่ตรงกับความเป็นจริง และทุจริตโครงการฝึกอบรมคนพิการ สร้างความเสียหายกว่า 1.5 พันล้านบาทต่อปี ว่า ในฐานะดูแลเรื่องการจ้างงานคนพิการ ส่งคนพิการให้ทำงานไม่ต่ำกว่า 500 คนต่อปี ยอมรับเรื่องการทุจริตในส่วนของการจ้างงานคนพิการตามที่นายปรีดากล่าวอ้างเป็นความจริง แต่มูลค่าความเสียหายไม่น่าจะถึง 1.5 พันล้านบาทต่อปี เนื่องจากที่ผ่านมาพอเกิดปัญหาการทุจริตหรือส่อแววทุจริตขึ้น ทางฝ่ายนิติกร กรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็จะเข้ามาดูแลและดำเนินการ เอาผิดกับคนทุจริต และเยียวยาคนพิการมาตลอด
ส่วนกรณีที่ระบุว่าได้รับร้องเรียนจากคนพิการเกือบ 50 คนนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่เป็นความจริง เพราะเท่าที่ติดตามข้อมูลที่นำเสนอ และการแถลงข่าวส่วนใหญ่เป็นกรณี(เคส) เก่าที่เคยมีปัญหาในอดีตและได้รับการแก้ไขแล้ว และมีเคสที่ได้รับผลกระทบจริงๆซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐน่าจะไม่ถึง 10 คนมูลค่าความเสียหายประมาณ 3-10 ล้านบาท ซึ่งการทุจริตที่พบอยู่ในส่วนของมาตรา35ที่สถานประกอบการจะต้องจัดโครงการอบรมให้กับคนพิการ หากไม่ต้องการจ่ายเงินเข้ากองทุน ซึ่งในส่วนนี้สถานประกอบการจะต้องเป็นคนเขียนโครงการ ดำเนินการเอง แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีฐานข้อมูลคนพิการจึงต้องติดต่อกับมูลนิธิคนพิการ หรือตัวแทนคนพิการเพื่อให้เขียนโครงการ จัดหาคนพิการมาเข้าร่วมอบรม จัดแจงงบประมาณ ค่าอาหาร หลักสูตร ที่พัก ก่อนยื่นรายละเอียดทั้งหมดไปที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หากหลักสูตรผ่านก็จะยื่นเรื่องไปที่กรมการจัดหางานเพื่อขออนุมัติโครงการ แล้วยื่นเสนอไปที่กรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติแล้ว ทางสถานประกอบการ ก็จะโอนเงินมาให้ตัวกลางที่ดูแลโครงการ เพื่อจัดอบรม ซึ่งมูลค่าโครงการ ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 5 – 20 ล้านบาท
สำหรับขั้นตอนนี้ถือเป็นช่องว่างทำให้นายหน้า ที่รับทำโครงการแทนสถานประกอบการหักค่าหัวคิว เช่น จ่ายค่าจ้างให้กับผู้พิการที่เข้าอบรมน้อยกว่าที่เขียนโครงการเสนอและอีกรูปแบบคือการจ้างงานปลอม จ้างงานคนพิการโดยให้ค่าจ่างน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ เช่น ให้เดือนละ 1,000-2,000 บาทแต่ไม่ให้มาทำงาน จากที่หากทำงานจริงควรได้รับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท แล้วก็ปลอมแปลงรายงานยื่นเสนอต่อกรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการว่าได้จ้างเต็มจำนวน
นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่านายปรีดาเป็นหนึ่งในคนพิการที่รับดูแลโครงการ และหาคนพิการมาฝึกอบรม โดยมีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งมอบหมายให้ดูแลโครงการมูลค่า 20 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง จนปี2560 เปลี่ยนให้อดีตอธิบดีกรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่เกษียนอายุราชการไปแล้วเข้ามาดูแลแทนจึงอาจเป็นต้นเหตุให้ออกมาอาศัยรูปแบบการร้องเรียนลักษณะคล้าย เคส ‘น้องแบม’ ที่ออกมาเปิดเรื่องการทุจริตเงินคนจนก่อนหน้านี้ โดยสร้างมูลค่าความเสียเกินจริงนำเคสคนพิการที่ได้รับผลกระทบเคสเก่ามาเปิด เผย และการที่ออกมาร้องเรียนเพราะอาจต้องการสร้างเครดิตให้ตนเอง ซึ่งคนในวงการนี้ก็รู้จักนายปรีดาดี ขณะที่ปัจจุบันก็ได้รับการร้องเรียนว่าดำเนินโครงการอบรมไม่โปร่งใส ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ แต่ถึงอย่างไรการออกมาเปิดเผยว่าคนพิการถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นเรื่องดีเพราะทำให้คนพิการที่ถูกกระทำได้รู้สิทธิตัวเองและกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของตนมากขึ้น ทำให้สังคมให้ความสำคัญกับปัญหาของการจ้างงานคนพิการ
ทั้งนี้ ในฐานะนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย พร้อมกรรมการและคณะอนุกรรมการของสมาคมฯ จะร่วมประชุมหารือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ย.นี้ เวลา 15.00น. ที่ รร.เดอะริช จ.นนทบุรี ก่อนนำทีมคนพิการกว่า 100 คน แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงการทุจริตเงินคนพิการอีกด้านในเร็วๆนี้ .-สำนักข่าวไทย