กทม. 20 ก.ย. – การทำศัลยกรรมแบบไม่ผ่าตัดกำลังเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะการฉีดฟิลเลอร์ที่เชื่อว่าช่วยให้ใบหน้าดูอิ่มเอิบชุ่มชื้น แต่สารที่ อย.รับรองมีเพียงชนิดเดียว ปัจจุบันพบมีการฉีดสารแปลกปลอม หรือการใช้ฟิลเลอร์ปลอมมาหลอกลวงผู้บริโภค หรือการหลงเชื่อรีวิวคำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง ทำให้ผู้เสียหายที่ได้รับผลข้างเคียงมากขึ้น
ผู้เสียหายคนนี้มีใบหน้าบวมเป่ง หลังการฉีดฟิลเลอร์ แพทย์คาดว่าอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้สารที่ไม่ได้มาตรฐาน
ส่วนรายนี้ต้องเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อเนื่อง เพราะเต้านมอักเสบติดเชื้อ จากการไปฉีดฟีลเลอร์บริเวณหน้าอก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเคสผู้เสียหายนับพันรายที่ได้รับผลข้างเคียงจากการทำศัลยกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด และร้องเรียนผ่านเพจในโซเชียลมีเดีย ผู้ร้องเรียนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง รับการฉีดสารแปลกปลอม โดยเฉพาะการฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่าน อย. การฉีดมากเกินไป การฉีดจุดที่ไม่ควรฉีด เช่น ที่หน้าอกหรือสะโพก
ผู้เสียหายคนนี้เคยฉีดฟิลเลอร์ที่คลินิกแห่งหนึ่งเมื่อ 8 ปีก่อน เพราะต้องการแก้ปัญหาแก้มตอบ โดยทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มั่นใจว่าสารฟิลเลอร์ที่ฉีดนั้นผ่าน อย. หลังฉีดครั้งแรกได้ผลดี จึงฉีดต่อเนื่องมา 2 ปี รวมประมาณ 4 ครั้ง จึงหยุดฉีด ผ่านไป 3 ปี ไม่พบความผิดปกติใดๆ จึงไปตบหน้าเด้ง แต่หลังจากนั้นไม่กี่นาที หน้าเริ่มบวม จุดที่เคยฉีดฟิลเลอร์มาก็แข็งเป็นก้อน
แพทย์ผู้รักษาจากโรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า หากเป็นสารไฮยาลูโรนิกแอซิดฟิลเลอร์แท้ที่ผ่าน อย. มันจะสลายไปได้เองภายใน 2 ปี แต่หากอยู่นานกว่านั้น เป็นไปได้ว่าอาจมีสารอื่นปลอมปน และเมื่อไปตบหน้าเด้งจึงเกิดอาการข้างเคียงขึ้น การรักษาต้องใช้เวลา เพราะสารฟิลเลอร์ที่เคยฉีด ถูกกระตุ้นจนแตกตัวกระจายไปทั่วหน้า
ที่ศิริราชมีผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดฟีลเลอร์เข้ามารักษาแทบทุกสัปดาห์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่แพ้แม้ใช้ฟิลเลอร์ที่ผ่าน อย. และกลุ่มที่หน้าพังเพราะใช้ฟิลเลอร์ปลอม โดยฟิลเลอร์ที่ผ่าน อย. ในไทยมีเพียงชนิดเดียว คือ สารที่เรียกว่า ไฮยาลูโรนิก แอซิด (Hyaluronic Acid) เพราะเป็นชนิดเดียวกับที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้ ช่วยให้ผิวดูชุ่มชื้น อิ่มเอิบ และร่างกายก็จะผลิตเอนไซม์ทำลายได้ด้วยตัวเองเช่นกัน เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายสร้างสารนี้ได้น้อยลง แต่การทำลายสารนี้มีปริมาณเท่าเดิม จึงเกิดริ้วรอย หย่อนคล้อย จึงมีการนำสารไฮยาลูโรนิก แอซิด ที่สร้างจากสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น จากแบคทีเรีย มาดัดแปลงใช้เป็นสารเติมเต็มทดแทน แต่ปัจจุบันยังพบการฉีดฟิลเลอร์จากสารที่ไม่ผ่าน อย. หรือสารแปลกปลอมอื่นๆ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
ผู้เสียหายจากการทำศัลยกรรมที่ไม่ผ่าตัด กรณีการฉีดฟิลเลอร์ระยะหลังมีผู้ชายเข้ามารักษาเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นการรักษาการอักเสบติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศชาย จากการนิยมไปฉีดฟิลเลอร์เพื่อเพิ่มขนาด
ศัลยกรรมแบบไม่ผ่าตัดได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งการโบท็อกซ์ ร้อยไหม ฉีดสลายไขมันส่วนเกิน และฉีดฟิลเลอร์ สภาพร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน เคยมีรายงานการวิจัยทางการแพทย์พบว่า ระยะเวลาที่อาจเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดสารเติมเต็มเข้าร่างกาย เคยมีผู้แสดงอาการแพ้หลังการฉีดไปยาวนานกว่า 40 ปีก็มี และสารฟิลเลอร์ที่ อย.รับรองมีชนิดเดียว หากมีอาการแพ้ แพทย์มียาฉีดสลายฟิลเลอร์ได้ แต่หากเป็นสารปลอมปนจะไม่มียาฉีดสลายแก้ และอาการแพ้ก็จะรุนแรงและเรื้อรังมากกว่า. – สำนักข่าวไทย