กรุงเทพฯ 18 ก.ย.- กสอ.จับมือจุฬาฯ ส่งเสริมสนับสนุนให้เอสเอ็มอี มีระบบบัญชีเดียว เพื่อเตรียมพร้อมรับมาตรการที่ภาครัฐจะกำหนดให้ การยื่นขอกู้เงินต้องยื่นบัญชีที่นำไปแสดงตอนยื่นเสียภาษีแก่สรรพากรแนบไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ต้นปีหน้า
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการ “เสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน” การจัดงานครั้งนี้ มุ่งเน้นให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) มีระบบบัญชีเดียว เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ และยังเป็นการเตรียมความรับมือกับ มาตรการใหม่ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่กำหนดให้การยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป จะให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาจากบัญชีที่นำไปยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ยื่นให้กับกรมสรรพากรแนบประกอบด้วย
นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านราย และมีการจดแจ้งเป็นนิติบุคคลประมาณ 600,000 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 450,000 ราย ที่จดแจ้งการทำบัญชีเล่มเดียวแล้ว ที่เหลืออีกประมาณ 150,000 ราย อยู่ระหว่างรอดำเนินการจดแจ้งเข้าระบบบัญชีเดียว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ บัญชีเดียว อาจมีสาเหตุมาจากการขาดความรู้ทางด้านบัญชีและการเงิน หากไม่เร่งปรับตัว อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs เอง เมื่อมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะไม่สามารถถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงได้จัดโครงการ “เสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน” ขึ้นเพื่อช่วยเหลือ
ทั้งนี้ กสอ. โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขอสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) เป็นผู้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ที่ ขณะนี้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วประมาณ 11,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบบัญชีเดียวในปีนี้รวม 3,500-4,000 ราย และปีหน้า กสอ.ตั้งเป้าหมายให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวเพิ่มอีก 10,000 ราย โดยกสอ.ร่วมกับสถาบันการเงินดำเนินการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และเอสเอ็มอีแบงก์ สำหรับจีดีพี เอสเอ็มอี ปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 40 ของจีดีพีประเทศ กสอ.มีเป้าหมายเพิ่มจีดีพีเอสเอ็มอี ให้มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 45 ของจีดีพีประเทศในปีหน้า
สำหรับโครงการเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน จะจัดขึ้นทั้งหมด จำนวน 4 ครั้ง ใน 4 ภาคและสัญจรไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สงขลา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ คาดว่ากลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 3,500-4000คน
นายเดชา กล่าวว่า การจัดทำบัญชีเดียวมีประโยชน์ ต่อเอสเอ็มอี เพราะบัญชีที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกับข้อเท็จจริงของธุรกิจ จะทำให้สร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมการเงินให้กับกิจการ ส่งผลให้การทำธุรกรรมและการบริหารเงินของผู้ประกอบการเป็นไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว เกิดประสิทธิภาพ และมีความเสี่ยงน้อยลง รวมทั้งภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการได้ตรงจุดและตรงต่อความต้องการ เพราะมองเห็นภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงและชัดเจน และจะส่งผลต่อผลสำเร็จต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในภาพรวมด้วย
ที่ผ่านมา กสอ.มุ่งให้องค์ความรู้ทางด้านการเงินและการจัดทำบัญชีเดียวสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของกิจการของเอสเอ็มอี โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ Pre-Finance เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่แหล่งทุน และ Post-Finance เพื่อปรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีเดียว รวมทั้งการปรับระบบบัญชีให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 และตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกองทุนที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถรับความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อกู้เงินไปพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป .-สำนักข่าวไทย