กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – สืบเนื่องจากที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก มีแนวคิดปรับภูมิทัศน์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นำไปสู่การตามหาว่า ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ และมีอำนาจในการดูแลอนุสาวรีย์แห่งนี้ ล่าสุดกรุงเทพมหานครออกมาชี้แจงเป็นหน่วยงานดูแลอนุสาวรีย์
77 ปี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โบราณสถานโดดเด่น ใจกลางวงเวียน จุดตัดถนน 3 สาย คือ พหลโยธิน พญาไท และราชวิถี เดิมทีจุดนี้เรียกว่า สี่แยกสนามเป้า สถานที่รวมผู้คน เชื่อมการสัญจรหลากรูปแบบ
อดีตบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ฯ เป็นทุ่งหญ้าและบ้านเรือนประชาชน ปี 2476 กระทรวงมหาดไทยออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้าง ถ.ประชาธิปัตย์ หรือ ถ.พหลโยธิน ในปัจจุบัน และโอนกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง หรือกรมธนารักษ์ ดูแล
ปี 2484 เกิดสงครามอินโดจีน ทำให้มีทหาร ตำรวจ พลเรือน เสียชีวิต เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้กล้า ครม.จึงมีมติสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น โดยใช้งบจากรัฐและเงินบริจาคประชาชน จึงถือเป็นสมบัติแผ่นดิน แต่ไม่ระบุเจ้าของ
เมื่อเทียบโฉนดกับของกรมที่ดิน ทำให้เห็นว่า บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ตั้งอยู่บนถนน ไม่ทับซ้อนที่ดินของกรมธนารักษ์ ซึ่งถนนใน กทม. ถือเป็นทางสาธารณะที่ กทม.ต้องดูแล เว้นบางเส้นทางที่กรมทางหลวงดูแล อำนาจในการปรับปรุงพื้นที่จึงเป็นของ กทม.โดยตรง กทม.ยอมรับจากเดิมดูแลแค่กายภาพ แต่เมื่อต้องปรับปรุงใหญ่ จึงต้องหาผู้รับผิดชอบชัดเจน เตรียมประชุมปรับแผน ส่งแบบบูรณะให้กรมศิลปากรตรวจสอบ และของบประมาณจากต้นสังกัดราว 40 ล้านบาท
ป้าใสย วัย 76 ปี สัญจรบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ตั้งแต่เด็ก ก็ไม่เคยรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ แต่มองว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ควรปรับปรุงพื้นที่ให้คนทุกวัยได้ใช้อย่างสะดวก ทำอุโมงค์ลอดเช่นเดียวกับพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่
หลักการปรับปรุงภูมิทัศน์อนุสาวรีย์หรือโบราณสถานต่างๆ หากไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร และอนุสาวรีย์นั้นตั้งอยู่บนทางสาธารณะ จังหวัดต้องเป็นผู้ดูแล ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร 16 แห่ง กรมศิลปากรขึ้นทะเบียน 6 แห่ง โดย 2 ใน 6 แห่งนี้ คือ สะพานพุทธ และอนุสาวรีย์หมู ซึ่งกรมศิลปากรมอบให้ กทม.ดูแล ส่วนที่เหลือ กทม.รับดูแลทั้งหมด. – สำนักข่าวไทย