กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – กระทรวงการคลัง ยืนยันใช้เงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ชดเชยการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้คืนภาษีให้เสียวินัยการคลัง หลังนักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ทำลายวินัยส่งเสริมการเสียภาษี
ทันทีที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย จับจ่ายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ ข้อมูลรายการภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกส่งตรงไปยังกรมสรรพากร และส่งกลับมายังกรมบัญชีกลาง เพื่อส่งคืนเงินเข้าบัตรสวัสดิการฯ ในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป….นี่คือแนวคิดของกระทรวงการคลังที่เตรียมเสนอ ครม. เพื่อเพิ่มกำลังซื้อฐานราก ด้วยโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 11 ล้านคน
ขณะนี้ยังรอข้อสรุปว่า รัฐจะเปิดทางให้คืนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 500 บาท/เดือน หรือไม่ โดยหากเพดานคืน คือ 500 บาท/เดือน ก็หมายความว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ จะต้องเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และใช้จ่ายผ่านบัตรเริ่มต้นที่ร้านธงฟ้าฯ จำนวน 7,000-8,000 บาท/เดือน จึงจะมีเงินโอนเข้าบัตร 500 บาท ในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยช่วงทดลองจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากมาชดเชย ซึ่งเตรียมเสนอนำร่อง 6 เดือน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2561 – เมษายน 2562 ใช้เงิน 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลัง ย้ำว่าไม่ได้ทำผิดวินัยการคลัง เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหาร ต้องเลือกช่วยเหลือเหมือนกัน ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากมาชดเชยการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเจอกับข้อเสนอแบบดุเด็ดเผ็ดมัน จากอาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า แผนการคืน VAT หรือคืนภาษีให้กับคนบางกลุ่ม เป็นการทำลายวินัยการเงินการคลัง เพราะสนับสนุนให้คนไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักให้กับประเทศ ต้องรอดูว่า ครม.จะพิจารณาแนวทางการดูแลผู้มีรายได้น้อยในลักษณะใด. – สำนักข่าวไทย