กรุงเทพฯ 8 ก.ย. สนข. มั่นใจก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าเส้นแรกในจังหวัดเชียงใหม่ได้ตามเป้า นำร่องสายสีแดง 12 กิโลเมตร เงินลงทุนพุ่งเกือบแสนล้านเพราะเป็นระบบใต้ดิน
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ ศึกษาและสำรวจเส้นทางการพัฒนา ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมั่นใจว่า จะสามารถเริ่มเดินหน้าตามเป้าหมาย สำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ในจังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังได้สรุปแนวทางก่อสร้างใน รูปแบบ A วิ่งบนดินและใต้ดินร่วมกัน ระยะทาง 35 กิโลเมตร งบลงทุนรวม 8.6 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่ามีความเหมาะสมกว่ารูปแบบ B ที่เป็นการติดตั้งรางแทรมบนถนน (LRT) จากสภาพถนนในเชียงใหม่ที่แคบ อาจทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น แม้จะใช้เวลาก่อสร้างและวงเงินลงทุนสูงกว่าก็ตาม
“ทั้งนี้ที่วงเงินลงทุน สูงเกือบ 100,000 ล้าน เนื่องจาก มีการลงทุน เป็นระบบรถไฟฟ้าใต้ดินประมาณ 70 % ของเส้นทาง ซึ่งมีการลงทุนมากกว่า ระบบลอยฟ้าถึง 3 เท่า”นายชัยวัฒน์กล่าว
อีกทั้งยังเป็นความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมรอบคูเมืองและเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ไว้ดังเดิม รวมถึงไม่ต้องเวนคืนพื้นที่จำนวนมากโดยโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ จะมีทั้งหมด 3 เส้นทางหลัก ระยะทางรวม 35 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสีแดง ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการและสนามกีฬา 700 ปี-ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซี หางดง) สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่-มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ถนนเส้นคันคลองชลประทาน-แยกตลาดต้นพยอม-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-เชียงใหม่บาซาร์-แยกหนองประทีป-แยกศรีบัวเงินพัฒนา (แยกพรอมเมนาดา) และสายสีเขียว ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร เริ่มต้นจากแยกรวมโชค-จุดแยกแม่โจ้ (แยกโรงพยาบาลเทพปัญญา)-ตลาดวโรรส-เชียงใหม่ไนท์บาซาร์-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต-ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ โดยแผนการก่อสร้างจะเริ่มที่สายสีแดงเป็นลำดับแรก จากนั้นถึงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินตามลำดับ โดยจะมีรูปแบบการลงทุนแบบ PPP สนข. เชื่อว่า โครงการจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 หรือต้นปี 2463 และจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี-สำนักข่าวไทย