กรุงเทพฯ 1 ส.ค.-บางจากฯ จับมือพันธมิตร 10 องค์กร ดันสินค้า SME ไทย พร้อมเปิดตัวโครงการแรก SPAR Awards : Taste of Thailand ด้าน SME Development Bank ออกสินเชื่อ Factoring 3,000 ล้านบาทหนุนคู่ค้าในนิคมอุตสาหกรรม
นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ากลุ่มบริษัทบางจากฯ โดยสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจบางจาก (Bangchak Initiative and Innovation Center – BiiC) และบริษัท บางจาก รีเทล จำกัด (BCR) ผู้ดำเนินธุรกิจกลุ่ม Non-Oil ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กับองค์กรพันธมิตร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สถาบันอาหาร (NFI) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน)
โครงการนี้เพื่อต่อยอดการขยายธุรกิจ ผลักดันเอสเอ็มอีของไทยให้ขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมนำเทคโนโลยีใหม่ๆสนับสนุน การลงทุนในธุรกิจ Start Up ในขณะเดียวกัน จากที่บางจากฯซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในนาม SPAR Thailand ภายใต้ SPAR International ซึ่งเป็นเครือข่ายค้าปลีกระดับโลก ก็จะมองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพื่อหาช่องทางจำหน่าย ในเครือข่าย SPAR International และโอกาสในการจำหน่ายที่ร้านอินทนิล ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดดำเนินการกว่า 500 สาขา และมากกว่า 1,000 สาขาในอีก 2-3 ปี ข้างหน้าด้วย โดยการดำเนินการหนึ่งในการจัดหา คือ โครงการ SPAR Awards ประกวดผู้ประกอบการไทย เพื่อคัดเลือกสินค้าสู่การวิจัยและพัฒนาให้เป็น SPAR Signature Products โดยแบ่งรางวัลออกเป็น รางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ อันดับ 2 ภายใต้เกณฑ์การตัดสิน 4 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรม (Innovation) ความแตกต่าง (Differentiate) คุณภาพและมาตรฐาน (Quality Standard) และยอดขาย (Sales) ซึ่งมีกำหนดทดลองวางจำหน่ายภายในปีนี้
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า ธนาคารออกบริการสินเชื่อใหม่ “โครงการสินเชื่อ Factoring เสริมแกร่ง คู่ค้าการนิคมอุตสาหกรรม” เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีลูกหนี้การค้าที่มีสถานประกอบการหรือสาขาที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม เพียงนำเอกสารการแจ้งหนี้ของลูกหนี้การค้าที่ผ่านการวางบิลเรียบร้อยแล้ว มาเปลี่ยนเป็นเงินสดกับธนาคารได้ โดยไม่ต้องรอครบกำหนดเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีเงินสดไปใช้จ่ายหมุนเวียนในการทำธุรกิจคล่องตัว ไม่ติดขัด ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง และยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันธุรกิจ
สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ ต้องเป็นนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจมาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ไม่มีประวัติการละทิ้งงาน หรือถูกบอกเลิกสัญญา วงเงินรวมของโครงการ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 ปี หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อรวมของโครงการ โดยธนาคารจะรับซื้อสูงสุดถึง 90% ของมูลหนี้ทางการค้า และกรณีลูกหนี้การค้าชำระหนี้โดยโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ประกอบการเอง รับซื้อสูงสุด 80% วงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 100,000 บาทถึงสูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยอัตราพิเศษMFR+1ต่อปี(ปัจจุบัน MFR =6.75% ต่อปี) ให้เครดิตนานถึง 180 วัน ฟรีค่าธรรมเนียมบริการ และที่สำคัญ เบิกจ่ายเงินภายในวันเดียว
“จากนโยบายภาครัฐส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้การลงทุนจากกลุ่มทุนไทยและต่างประเทศขยายตัวอย่างสูง ส่งผลดีเชื่อมมายังธุรกิจเอสเอ็มอีในการเป็นฐานผลิตสินค้าให้แก่บริษัทในนิคมฯ อย่างไรก็ตาม คู่ค้ารายใหญ่ที่อยู่ในนิคมฯ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ มักจะมีเงื่อนไขว่า เมื่อเอสเอ็มอีวางบิลแล้ว กว่าจะเรียกเก็บเงินจริงได้ ต้องใช้เวลาอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีสายป่านสั้น ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ดังนั้น สินเชื่อ Factoring เสริมแกร่งฯจะมาช่วยตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการมีเงินทุน นำไปใช้ขับเคลื่อนธุรกิจได้ต่อเนื่อง ไม่เกิดปัญหาสะดุด” นายมงคล กล่าว-สำนักข่าวไทย