หาดเจ้าไหม 17 ก.ย.-ประเทศไทย เพาะพันธุ์ม้าน้ำและปล่อยคืนสู่แหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติครั้งแรก นำร่องเกาะมุกและหาดหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง กว่า 450 ตัว พร้อม เฝ้าติดตามพฤติกรรมและอัตราอยู่รอด
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ปล่อยพันธุ์ม้าน้ำ 2 ชนิด รวมกว่า 450 ตัว ลงอยู่แหล่งอาศัยตามธรรมชาติครั้งแรกของประเทศไทย นำร่องพื้นที่แรกบริเวณเกาะมุกและหาดหยงหลำ ภายในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม คือ ลูกม้าน้ำดำ อายุ 10 วัน จำนวน 350 ตัว และ ม้าน้ำดำขนาดใหญ่ อายุ 1 ปี จำนวน 20 ตัว กับ ม้าน้ำหนาม อายุ 81 วัน จำนวน 80 ตัว ตามโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกม้าน้ำของประเทศไทยที่มีจำนวนสูงมาก จนการค้าม้าน้ำในไทยถูกจัดอยู่ในระดับน่าห่วงใยเร่งด่วน โดยเฉพาะม้าน้ำ 3 ชนิด จาก 7 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ คือ ม้าน้ำดำ ม้าน้ำยักษ์ และม้าน้ำหนาม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ม้าน้ำกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก สาเหตุจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยบริเวณแนวหญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอาศัยของม้าน้ำ และลักลอบจับส่งออกขาย เพื่อทำยารักษาโรค ซึ่งการเพาะพันธุ์ม้าน้ำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อขยายพันธุ์ม้าน้ำที่เสี่ยงสูญพันธุ์ของไทย ควบคู่กับการเฝ้าติดตามพฤติกรรมม้าน้ำที่ปล่อยลงกรงพักม้าน้ำใต้ทะเลตรงแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะมุกและหาดหยงหลำ ทั้งการปรับตัว การจับคู่ผสมพันธุ์ การวางไข่ และอัตราการอยู่รอด
ขณะที่ นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง ตั้งเป้าเพาะพันธุ์ม้าน้ำเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติทั้ง 3 ชนิด ให้ได้อย่างน้อย 100,000 ตัว ควบคู่กับการ ศึกษาวิจัยม้าน้ำไทยเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มในอนาคต ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่างประเทศได้จัดม้าน้ำเข้าสู่อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(ไซเตส) ในบัญชี 2 ที่ต้องควบคุมหรือจำกัดปริมาณการทำการค้าเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อการลดจำนวนประชากรม้าน้ำอย่างรวดเร็ว.-สำนักข่าวไทย