หนองคาย 29 ส.ค.- รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่อีสานตรวจสถานการณ์น้ำ เร่งรัดโครงการห้วยหลวงตอนล่างที่หนองคาย ดึงน้ำโขงเข้าพื้นที่ตอนในใช้ประโยชน์ตามแผน 9 ปี เล็งเชื่อมเส้นทางน้ำโขง ชี มูล แก้ปัญหาถาวรน้ำท่วมน้ำแล้ง
วันนี้ (29 ส.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.หนองคาย พร้อมนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย และจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง หลังจาก ค.ร.ม. มีมติเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 อนุมัติโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ระยะเวลาตามแผนงาน 9 ปี ระหว่างปี 2561-2569 วงเงิน 21,000 บาท โดยกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งจะมีการก่อสร้างอาคารประกอบในปีงบประมาณ 2561
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งจะต้องหาทางแก้ไขระยะยาวด้วยการวางแผนงานให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าการนำแม่น้ำโขงเชื่อมกับแม่น้ำชี แม่น้ำมูลในพื้นที่ภาคอีสาน รวมถึงอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ แล้วมีการบริหารจัดการจัดสรร จะทำให้ประชาชนและเกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ซึ่งโครงการพัฒนาห้วยหลวงจะเป็นโครงการเริ่มต้นก่อน จากนั้นรัฐบาลจะวางแผนงานระยะยาว 20 ปี ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มีการบริหารจัดการลุ่มน้ำต่าง ๆ ให้ดีขึ้น จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศไปด้วยกัน
สำหรับโครงการพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง เป็นโครงการขนาดใหญ่ 1 ใน 9 แห่ง ที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำระดับชาติ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ความคืบหน้าของโครงการขณะนี้มีการสำรวจและออกแบบ สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง พนังกั้นน้ำ 18.60 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา 12 แห่ง และประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวง หรือ ปตร.ดงสระพัง 1 แห่ง เนื่องจากลำน้ำห้วยหลวงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีพื้นที่รับน้ำ 2,260 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี ซึ่งจะมีปัญหาน้ำท่วมประจำทุกปี ส่วนหน้าแล้งก็จะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร หลังจากโครงการนี้แล้วเสร็จจะทำให้สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองสูบน้ำจากลำน้ำห้วยหลวงที่เกินระดับควบคุมของประตูระบายน้ำ เพื่อระบายสู่น้ำโขงในอัตราการสูบสูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 18,000 ไร่.-สำนักข่าวไทย
