ผู้เชี่ยวชาญยืนยันมีระบบตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อน

กรุงเทพฯ  21 ส.ค. – นักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยของเขื่อนยืนยันว่าน้ำจะไม่ล้นเขื่อนแก่งกระจาน และไม่มีสัญญาณเขื่อนจะรั่วหรือเลื่อนตัว รวมทั้งมีเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนจะรายงานตลอดเวลาและต้องเพิ่มความถี่ในการสำรวจรอบเขื่อน


รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานรากได้ทำวิจัยหัวข้อ การจัดลำดับความเสี่ยงของเขื่อนเพื่อการชลประทานในประเทศไทยเมื่อปี 2550 ซึ่งเขื่อนแก่งกระจานมีระดับความปลอดภัยในเกณฑ์ปกติ  เขื่อนแก่งกระจานเป็นเขื่อนดินแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มใช้งานมาตั้งแต่พ. ศ. 2509 มีอายุ 58 ปีแล้ว เป็นเขื่อนที่ไม่มีประตูระบายน้ำ ช่องทางส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร คือ ท่อใต้อ่างระบายน้ำได้วันละประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำ มีความจุ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และมีเขื่อนรองปิดช่องเขาซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 2 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก ความจุ 27.50 ล้าน และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ความจุ 47.20 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานออกแบบไว้ให้สามารถรับน้ำเข้าได้มากถึง 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยการออกแบบคำนวณจากปริมาณน้ำฝนน้ำท่า 100 ปี ส่วนอัตราระบายออกสูงสุด 1,380 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำ ไม่มีประตูระบายน้ำ หากระดับน้ำในอ่างเกินความจุต้องระบายผ่านทางระบายน้ำล้น หรือ Spillway 

รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนที่ไม่มีประตูระบายน้ำเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างเขื่อนทั่วไป ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเขา ไม่เหมาะจะทำประตูน้ำ อีกทั้งมีการศึกษาก่อนก่อสร้างว่าไม่มีน้ำปริมาตรมากไหลเข้าในคราวเดียวบ่อย ๆ เมื่อน้ำถึงระดับเก็บกักจะไหลล้น Spillway ออกสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นวิธีการระบายน้ำที่ปกติเหนือสปิลเวย์ขึ้นไปยังมีพื้นที่รับน้ำจนถึงระดับสูงสุด ซึ่งมี Emergency Spillway หรือทางระบายน้ำฉุกเฉินอีกชั้นห่างกัน 3.67 เมตร รับน้ำได้มากถึง 190 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากับน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชลทั้งเขื่อน ทางระบายน้ำล้น 2 ชั้นจึงเพียงพอที่จะไม่ทำให้น้ำล้นถึงสันเขื่อนจนควบคุมการไหลของน้ำไม่ได้ อีกทั้งสันเขื่อนยังห่างจากทางระบายน้ำล้นปกติถึง 9 เมตร


จังหวัดเพชรบุรีซึ่งที่ตั้งเขื่อนแก่งกระจานเป็นรอยต่อของภาคกลางกับภาคใต้ จึงมีฝนนานกว่าพื้นที่ตอนบนของประเทศ เขื่อนแก่งกระจานรับน้ำจนเต็มศักยภาพมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 17-20 กรกฎาคม ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเพียงวันเดียวมากถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งพร่องน้ำออกด้วยวิธีพิเศษ คือ ทำกาลักน้ำเพื่อดึงน้ำออกจากอ่าง แต่ยังมีน้ำไหลเข้าอ่างตลอดจนเต็มความจุเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งเขื่อนแก่งกระจานทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากน้ำจากฝนที่ตกหนักจนมีปริมาณมากเช่นนั้น หากไม่มีเขื่อนแก่งกระจานจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงมาก

สำหรับการบริหารจัดการนั้น รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามพบว่ากรมชลประทานได้พร่องน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจานตั้งแต่ต้นฤดูฝน โดยวันที่ 1 พ.ค. 61 มีน้ำเพียง 296 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ ซึ่งติดกับเกณฑ์ควบคุมน้ำต่ำสุด แต่การที่ฝนตกหนักต่อเนื่องมาก ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างจนเกินความจุเก็บกักอยู่ที่ 737 ล้าน ลบ.ม คิดเป็น 104 % ของความจุอ่าง ซึ่งการบริหารจัดการที่ผ่านมาทั้งการพร่องน้ำด้วยกาลักน้ำ 22 ชุดออกแม่น้ำเพชรบุรีเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองส่งน้ำในที่ลุ่มต่ำไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวและการเกษตร การเสริมกระสอบทรายจุดตลิ่งต่ำ 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่ยังไม่มีพนังกั้นน้ำ การเสริมตลิ่งคลองระบาย D9 ให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำออกสู่ทะเลได้มากขึ้น เปิดทางน้ำผ่านจากคลองส่งน้ำลงสู่คลองระบายน้ำ ก่อนระบายลงสู่ทะเล จำนวน 19 จุด ใช้เขื่อนเพชรเป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ ระบายน้ำในอัตราไม่เกิน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่ลำน้ำเพชรบุรีที่ไหลผ่านเมืองรับได้นั้นเป็นการบริหารจัดการที่เป็นไปตามหลักวิชาการ ฝนที่ตกหนักระลอกที่ 2 ห่างจากระลอกแรกเพียงไม่กี่วัน ทำให้มีเวลาพร่องน้ำจากอ่างและแม่น้ำเพชรบุรีน้อยทำให้วันนี้น้ำเกินความจุน้ำระบายผ่านเขื่อนเพชรเกินเกณฑ์เฝ้าระวัง ทำให้มีน้ำเริ่มมีน้ำล้นตลิ่งในตัวเมือง

รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวถึงความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนแก่งกระจานว่า ตัวเขื่อนมีเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนหรือ Dam Instument ซึ่งรายงานถึงแรงกดอัด การทรุดตัว หรือการเลื่อนตัวของเขื่อนตลอดเวลา หากเกิดขึ้นจริง อีกทั้งตามหลักการดูแลเขื่อน เมื่อมีน้ำมาก หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเดินสำรวจรอบเขื่อน ตรวจหาความผิดปกติถี่ขึ้น แต่ทั้งนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ บ่งชี้ว่าจะเกิดภาวะเขื่อนพิบัติ ประชาชนจึงไม่ต้องตื่นตระหนก


ขณะนี้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กำลังเร่งอำนวยการแก้ปัญหา เพื่อบรรเทาผลกระทบ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างก่อนออกสู่ทะเล กรมชลประทานได้ใช้เครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง เร่งผลักดันน้ำจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า และจะใช้เครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งไว้ 31 เครื่องสูบน้ำที่เอ่อล้นออก นอกจากนี้ ยังเร่งลดระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับน้ำ โดยใช้เรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ  20 ลำ และจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 6 ลำ ซึ่งติดตั้งบริเวณสะพานวัดคุ้งตำหนักเพื่อผลักดันน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พ่อเลี้ยงล่วงละเมิด

“ต้นอ้อ” แฉพิรุธพ่อเลี้ยงปมคลิปเสียง-DNA ส่วนเด็กอาการดีขึ้น

“ต้นอ้อ” แฉพิรุธพ่อเลี้ยงปมคลิปเสียง-DNA เชื่อ แม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แค่เชื่อผัวเพราะลูกเคยโกหก เผย ตอนแม่รู้ความจริงว่าใครทำลูกถึงกับร้องไห้โฮโผกอดลูก ส่วนเด็ก 10 ขวบอาการดีขึ้น แต่ต้องรักษาตัวอีกหลายสัปดาห์

งานแต่งธนกร

วิวาห์ชื่นมื่น “ธนกร-แคทลีน” คนดังการเมือง-นักธุรกิจ ร่วมยินดีครึกครื้น

งานวิวาห์ “ธนกร-แคทลีน” ชื่นมื่น คนดังการเมือง-นักธุรกิจ ร่วมยินดีครึกครื้น ด้าน “ทักษิณ” ไม่ได้มาร่วม แต่ส่งของขวัญแสดงความยินดี

ทรัมป์สั่งปลด

“ทรัมป์” สั่งปลดประธานคณะเสนาธิการร่วมตามแผนปรับปรุงกลาโหม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ออกคำสั่งในวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นปลด พลอากาศเอก ซี. คิว. บราวน์ จูเนียร์ (Charles Quinton Brown Jr.) เป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐออกจากตำแหน่ง

ข่าวแนะนำ

รวบหนุ่มจีนพร้อมสาวไทย เอี่ยวฟอกเงินหลอกลงทุนคริปโต

ตำรวจไซเบอร์รวบหนุ่มจีนพร้อมสาวไทย กินหรูอยู่สบาย เอี่ยวฟอกเงินขบวนการหลอกลงทุนคริปโต พบเกี่ยวพันอีก 28 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท

“ทักษิณ” ถึงนราธิวาส กลับมาในรอบ 19 ปี

“ทักษิณ” ถึงนราธิวาส บอกคนนราธิวาสน่ารักเสมอ ต้อนรับอบอุ่นกับการกลับมาในรอบ 19 ปี ก่อนเดินทางต่อตามกำหนดเดิม แม้มีระเบิดที่สนามบิน

บึ้มรถกระบะ สนามบินนราธิวาส ก่อน “ทักษิณ” ลงพื้นที่

บึ้มรถกระบะจอดใกล้กับหอบังคับการบิน ท่าอากาศยานนราธิวาส ก่อน “ทักษิณ” ลงพื้นที่สนามบินบ้านทอน ในอีก 50 นาที ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ