กรุงเทพฯ 20 ส.ค. – กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม หลังได้รับผลกระทบจากพายุเบบินคา คาดปริมาณน้ำในน้ำยมที่เมืองแพร่จะสูงสุดวันนี้ พร้อมวางแผนจัดการน้ำก่อนไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย
ล่าสุดสถานการณ์ลุ่มน้ำยม น้ำปริมาตรสูงสุดของลำน้ำยมผ่านอำเภอเมืองเมืองแพร่ไปแล้วเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมาด้วยอัตรา 890 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองแพร่ระดับน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 70 เซนติเมตร ตัวเมืองแพร่ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆอย่างไรก็ตาม กรมชลประทานกำลังเฝ้าระวังตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งมีศักยภาพในการรับน้ำต่ำ จึงได้วางแผนใช้ประตูระบายน้ำต่าง ๆ ผันน้ำเข้าระบบชลประทานให้น้ำผ่านตัวเมืองสุโขทัยไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นปริมาตรสูงสุดที่ลำน้ำรับได้
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักในจังหวัดแพร่จากพายุเบบินคา ทำให้แม่น้ำยมมีปริมาตรมากขึ้น ซึ่งปริมาตรน้ำสูงสุดได้ถึงอำเภอเมืองแพร่ 10.00 น.วันนี้ (20 ส.ค.) ด้วยอัตรา 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นจะไหลผ่านอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ถึงอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ด้วยอัตราสูงสุด 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที วันที่ 22 สิงหาคม เวลา ประมาณ 01.00 น.
นายทองเปลว กล่าวว่า กรมชลประทานเตรียมลดระดับน้ำหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยให้อยู่ในระดับต่ำสุด สามารถรองรับน้ำเพิ่มได้ 8-10 ล้านลูกบาศก์เมตร พร่องน้ำแก้มลิงทุ่งแสลงหลวง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ให้อยู่ในระดับต่ำสุด สามารถรองรับน้ำได้ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในคลองยม-น่าน และแม่น้ำยมสายเก่าด้วยการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญเตรียมใช้ทุ่งบางระกำตามโครงการบางระกำโมเดลเป็นที่รับน้ำ จากการสำรวจล่าสุดจากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 382,000 ไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้วร้อยละ 90 ที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นที่ดอนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการนำน้ำเข้าไปพัก ส่วนแก้มลิงบึงขี้แร้ง บึงระมาน และบึงตะเคร็ง จังหวัดพิษณุโลกมีน้ำเฉลี่ยร้อยละ 50 รับน้ำได้ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายทองเปลว กล่าวว่า พื้นที่ที่ให้ระวังเป็นพิเศษ คือ อำเภอเมืองสุโขทัย ซึ่งแม่น้ำยมที่ไหลผ่านมีลักษณะแคบรับน้ำได้ 550 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำจะต้องลดปริมาตรน้ำโดยจะผันน้ำเข้าคลองสวรรคโลก-พิชัย หรือคลองยม-น่าน ผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาทในอัตรา 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพื่อลงแม่น้ำน่าน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และผันลงแม่น้ำยมสายเก่า 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นใช้ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์เป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ โดยให้ระบายในอัตรสูงสุดไม่เกิน 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผันเข้าคลองเล็กซ้าย-ขวา ไม่เกิน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อมาผันน้ำเข้าทุ่งทะเลหลวงและแก้มลิงต่างๆ เพื่อควบคุมน้ำไม่ให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดการณ์ว่าน้ำจะมาถึงตัวเมืองสุโขทัยในตอนเย็นอีก 2 วันข้างหน้า
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เฝ้าระวังจุดเสี่ยง ประกอบด้วย แนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองสุโขทัย ที่อาจมีน้ำผุดลอดกำแพงโรงพยาบาลสุโขทัย เฝ้าระวังพื้นที่เกษตรเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณแนวกั้นน้ำแม่น้ำยมสายเก่า อีกทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำทั้งในเขตชุมชน เขตเศรษฐกิจและพื้นที่เกษตร เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่พร้อมดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งตามแผนบริหารจัดการดังกล่าวจะทำให้ตัวเมืองสุโขทัยไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำแม่น้ำยมที่มีปริมาตรสูงหรือบรรเทาให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย