กรุงเทพฯ 16 ส.ค. – ราคาเอ็นจีวีขยับขึ้นวันนี้ สร้างสถิติสูงสุดที่ 14.58 บาท/กก. สะท้อนราคาน้ำมัน ปตท.ยังอุดหนุนต่อแต่ขาดทุนลดลง ด้านคนไทยหันไปใช้น้ำมันเพิ่มปั๊มน้ำมันแจ้งเกิดใหม่กว่า 1 พันแห่ง มีกว่า 28,000 แห่งแล้ว
บมจ.ปตท.ประกาศราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี ขึ้นราคา 29 สตางค์ต่อกิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันนี้ (16 ส.ค-15 ก.ย.61) โดยราคาใหม่เป็นราคาขายปลีกใน กทม.ยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น ราคาอยู่ที่ 14.58 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาเดิม 14.29 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการสะท้อนต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ขยับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.ระบุว่า ราคาก๊าซของไทยระบบราคารวม (pool price) ที่อิงราคาก๊าซในประเทศ (ผันแปรตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน) และราคานำเข้านั้นนับว่าในครึ่งแรกปีนี้ต่ำกว่าราคาก๊าซแอลเอ็นจีตลาดจรหรือสปอตของตลาดโลก โดยราคาครึ่งแรกของปีนี้ pooled อยู่ที่ 6.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู แม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 แต่ยังต่ำกว่าราคาตลาดโลก โดยตลาดจรอยู่ที่ 7.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นร้อยละ 31
“ราคาก๊าซในไทยแม้เพิ่มขึ้น แต่ราคาต่ำกว่าแอลเอ็นจีตลาดจร เป็นเพราะไทยมีก๊าซในอ่าวไทย ราคาจึงต่ำ แต่หากในอนาคตลดน้อยลงต้องพึ่งพาแอลเอ็นจีนำเข้า ราคาในไทยก็จะขยับขึ้น โดยก๊าซนั้นเป็นเชื้อเพลิงสำคัญทั้งโรงไฟฟ้า รถยนต์และอื่น ๆ” นายเทวินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ ปตท.ขาดทุนการค้าเอ็นจีวีครึ่งปีนี้ 2,806 ล้านบาท ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 135 ล้านบาท เพราะรัฐบาลอนุมัติให้ปรับราคาสะท้อนต้นทุนเพิ่มขึ้นและปรับค่าปรับปรุงคุณภาพก๊าซ ประกอบกับ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้ผู้ใช้รถเอ็นจีวีลดลง ยอดขายเอ็นจีวีครึ่งแรกของปี2561 อยู่ที่ 6,303 ตันต่อวัน ลดลง 581ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงให้ ปตท.อุดหนุนราคาเอ็นจีวีรถยนต์สาธารณะเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค เช่น รถเมล์ รถตู้ รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก ที่ระดับราคา 10.62 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ซึ่งยังคงทำให้ ปตท.รับภาระขาดทุนเอ็นจีวีต่อไป แต่จะลดลงจากเดิมคาดว่าขาดทุน 5,000 ล้านบาทต่อปี
ด้านข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2560 พบว่า จำนวนปั๊มเอ็นจีวีมีเท่าเดิม 462 แห่ง, ปั๊มแอลพีจีลดลง 25 แห่ง จาก 2,067 แห่ง เหลือ 2,042 แห่ง และปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 1,189 แห่ง โดยเพิ่มจาก 26,987 แห่ง เป็น 28,176 แห่ง โดยสะท้อนนโยบายรัฐที่ลดการอุดหนุนราคาก๊าซฯ ขณะที่ยอดใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ทำให้การแข่งขันธุรกิจน้ำมันขยายตัวทั้งสร้างปั๊มใหม่และการปรับปรุงปั๊มเก่า. – สำนักข่าวไทย