เพชรบุรี 9 ส.ค.-อธิบดีกรมชลประทาน มั่นใจสถานการณ์น้ำท่วมเพชรบุรีจากการระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจานจะไม่รุนแรงเท่า 2 ปีที่ผ่านมา เพราะเตรียมพร่องน้ำไว้ล่วงหน้าแล้ว
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ระบุการใช้แบบจำลองทางวิศวกรรมคาดการณ์สถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำจะเพิ่มสูงสุดในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.) และน้ำจะล้นทางระบายน้ำล้น หรือสปิลเวย์สูง 63 เซนติเมตร และจะถูกระบายไปท้ายเขื่อนในอัตรา 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ใช้เวลา 15 ชั่วโมง ถึงเขื่อนเพชร จากนั้นจะใช้เขื่อนเพชรเป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ ระบายออกท้ายเขื่อนในอัตรา 160 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งกรมชลประทานมั่นใจไม่เกิดน้ำล้นตลิ่งใน อ.บ้านลาด และท่ายาง เพราะวางแผนผันน้ำ ขุดขยายทางน้ำ และพร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เพิ่มพื้นที่รับน้ำไว้แล้ว
ส่วนวันที่ 12 สิงหาคม เมื่อน้ำไหลลงแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งรับน้ำได้เพียง 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และผ่านตัวเมือง พื้นที่ลุ่มต่ำจะได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งสูง 30-50 เซนติเมตร แต่คาดว่าไม่เกิน 10 วัน สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะหากเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้น้ำที่ระบายท้ายเขื่อนพชรน้อยกว่าถึง 125%
ขณะที่ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะมีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีด้วยกัน 4 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 737 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 104% น้ำล้นสปิลเวย์สูง 60 เซนติเมตร
เขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำ 534 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 103% สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง
เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำ 7,519 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 85% ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย
เขื่อนปราณบุรี มีปริมาณน้ำ 319 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็น 82% สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับค่อยๆ สูงขึ้น ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำจากอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย