กรุงเทพฯ 9 ส.ค.-เป็นอีกคดีหนึ่งที่เคยโด่งดังในโลกโซเชียล เมื่อมีภาพของ “อดีตเณรคำ” ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กระทั่งวันนี้ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 114 ปีฐานหลอกลวง ฉ้อโกงประชาชน ติดตามบทสรุปของอดีตเณรคำ จากทีมข่าวอาชญากรรม
ปี 2556 “เณรคำ” หรือพระวิรพล ฉัตติโก แห่งวัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ หรือ นายวิรพล สุขผล ตกเป็นข่าวอื้อฉาว ทำให้พระหนุ่มจากภาคอีสานกลายเป็นที่รู้จักระดับประเทศ ด้วยพฤติการณ์อวดอุตริ อวดอภินิหาร ชักชวนคนบริจาคเงินสร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก เจตนาหวังระดมเงินบริจาค แต่กลับนำเงินไปสะสมรถหรูราคาแพงกว่า 70 คัน ใช้ของแบรนด์เนม นั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว สุดท้ายหลบหนีออกนอกประเทศ ประกอบมีหลักฐานเป็นดีเอ็นเอ ชี้ชัดว่าลูกของหญิงสาวที่ร้องเรียนพฤติกรรมเสพเมถุนตรงกับดีเอ็นเอของเณรคำ คณะสงฆ์จึงมีมติให้เณรคำต้องอาบัติปาราชิก
ตลอดเกือบ 3 ปี ที่หนีไปพำนักอาศัยอยู่ที่สหรัฐ ทางการสหรัฐจับกุมตัวนายวิรพล ได้ตามคำของตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทย ที่ออกหมายจับรวม 5 ข้อหา 2 มูลฐานความผิด คือ พรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปี กระทำชำเราและอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งทั้ง 2 คดีขาดอายุความไปแล้ว ส่วนคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน และนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
นายวิรพล ถูกส่งตัวให้ทางการไทยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 จนวันนี้ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาลอาญา โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยปราชิกพ้นจากความเป็นภิกษุสงฆ์ เพราะเสพเมถุน ถือว่าไม่ได้เป็นภิกษุที่ปฏิบัติดี ในช่วงเวลาที่มีการเชิญชวนญาติธรรมให้มาร่วมสร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการหลอกลวง อีกทั้งการก่อสร้างพระแก้วมรกตก็ไม่ได้มีการนำหยกจากประเทศอิตาลีมาก่อสร้างตามที่กล่าวอ้าง แต่กลับใช้อิฐหินปูนมาก่อสร้างแทน
อีกทั้งมีพฤติการณ์ใช้เงินบริจาคอย่างฟุ่มเฟือย เช่น ซื้อรถยนต์หรูหลายคัน เช่าเครื่องบินส่วนตัวเดินทาง และใช้สินค้าราคาแพง จึงเป็นการนำเงินบริจาคของญาติธรรมที่มีความศรัทธาไปใช้ส่วนตัว ไม่ได้ทำตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค ถือว่ามีความผิดจริง พิพากษาลงโทษความผิดฉ้อโกงประชาชน ให้จำคุก 87 ปี ความผิดฐานฟอกเงิน ให้จำคุก 24 ปี และฐานความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุก 3 ปี รวมแล้วให้จำคุก 114 ปี แต่ตามกฎหมายกำหนดให้ลงโทษได้ไม่เกิน 20 ปี คงเหลือให้จำคุก 20 ปี และชดใช้เงินตามจริงให้กับผู้เสียหาย 29 คน
สำหรับคดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552-27 มิถุนายน 2556 จำเลยอาศัยความเป็นพระภิกษุ ในฐานะประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ ใช้ความศรัทธาของประชาชน หลอกลวงว่าจำเลยมีนิมิตพบองค์อินทร์ ขอให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก และสร้างมหาวิหารครอบองค์พระ โดยใช้หยกเขียวแท้จากประเทศอิตาลี และสร้างเครื่องทรงพระแก้ว 3 ฤดู ด้วยทองคำแท้ และก่อสร้างเสาวิหารแก้ว 199 ต้น ต้นละ 300,000 บาท รูปหล่อพระทองคำ ซึ่งเป็นรูปเหมือนจำเลย ก่อสร้างวิหารสำหรับประชาชนที่วัดป่าฯ สาขา 1 จ.อุบลราชธานี สร้างวัดที่ จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งการจัดซื้อเรือจากประเทศสหรัฐ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยจำเลยประกาศ ชักชวนให้ประชาชนนำเงิน ทองคำ และทรัพย์สินมาบริจาคกับจำเลยที่วัดป่าขันติธรรม โดยจัดตู้บริจาค 8 ตู้
นอกจากนี้ จำเลยยังได้ใช้เว็บไซต์เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการจัดสร้างสิ่งต่างๆ จนมีผู้เสียหาย 29 ราย หลงเชื่อว่าจำเลยเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เข้าร่วมบริจาคเงินและทรัพย์สินต่างๆ จำนวนกว่า 28 ล้านบาท แล้วจำเลยโอนเงินกว่า 1 ล้านบาท ที่ได้จากการฉ้อโกงไปซื้อรถยนต์ตู้ 1 คัน โดยทุจริต ทั้งที่ความจริงแล้วจำเลยมิได้ก่อสร้างใดๆ เลย.-สำนักข่าวไทย