สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 7 ส.ค.- 8 ผู้ต้องหากลุ่มวีวอล์ค ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 มีข้อความหรือเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เผย มีผู้ถูกฟ้องมากกว่า 400 ราย เสนอยกเลิกคำสั่ง เหตุปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุม ขัดรัฐธรรมนูญ – หลักนิติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 ส.ค.) ผู้ต้องหา 8 รายในคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 จากกรณีการเข้าร่วมกิจกรรม “We walk เดิน…มิตรภาพ” ของเครือข่าย People Go Network เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามการมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป มีข้อความหรือเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ว่าด้วยการตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมาตรา 44 ที่รับรองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หรือไม่ โดยขณะนี้มีประชาชนกว่า 400 ราย ถูกฟ้องจากคำสั่งนี้
อีกทั้ง คำสั่งดังกล่าวยังมีโทษรุนแรงสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการเพื่อยุติการชุมนุมได้ทันที ในขณะที่กรณีการฝ่าฝืนไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดโทษทางอาญาไว้เพียงแค่ปรับไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น และยังกำหนดมาตรการขั้นตอนให้ศาลมีอำนาจในการถ่วงดุลตรวจสอบ ก่อนการสั่งยกเลิกการชุมนุมด้วย
นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้หัวหน้า คสช.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องระงับการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่มีการทบทวนยกเลิกคำสั่งนั้น และปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
ด้าน นายสงัด กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิของประชาชน และจะนำเสนอคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ต้องดูด้วยว่าเป็นประเด็นซ้ำหรือไม่ โดยอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย ซึ่งน่าจะไม่เกิน 1 เดือน แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเคยวินิจฉัยคำสังดังกล่าว จากคำร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไปแล้วครั้งหนึ่งว่าให้ยุติเรื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นบรรทัดฐานในกรณีนี้ เนื่องจากประเด็นความเดือดร้อนต่างกัน ซึ่งแม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะเห็นว่ากฎหมายมีความสำคัญแต่ความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญกว่า .- สำนักข่าวไทย