ภูมิภาค 6 ส.ค.-สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น จ.นครพนม น้ำยังท่วมขังบ้านเรือน และพื้นที่เกษตรกว่า 50,000 ไร่ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 10 อำเภอ ส่วน จ.สกลนคร เร่งติดตั้งระบบผันน้ำแบบกาลักน้ำที่เขื่อนน้ำอูนให้ครบ 25 ท่อ ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง
สถานการณ์แม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม ระดับน้ำอยู่ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่ง 60 เซนติเมตร ส่งผลให้ลำน้ำสาขาสายหลัก อาทิ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ไม่สามารถระบายลงน้ำโขงได้ สร้างผลกระทบเข้าท่วมขังบ้านเรือน และพื้นที่เกษตรมากกว่า 50,000 ไร่ โดยมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 10 อำเภอ ประชาชนความเดือดร้อน 13,724 ราย และมีแนวโน้มขยายวงกว้าง หากมีฝนตกเพิ่ม ล่าสุด มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มากถึง 15 เครื่อง เร่งระบายน้ำในลำน้ำก่ำลงสู่แม่น้ำโขง
เช่นเดียวกับปริมาณน้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.หนองคาย ยังคงสูงกว่าลำน้ำสาขา 20 เซนติเมตร โครงการห้วยหลวงต้องปิดประตูระบายน้ำทั้ง 3 บาน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม เร่งพร่องน้ำในลำห้วยเพื่อรองรับฝนที่ตกลงมาเพิ่ม โดยยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ส่วนที่ จ.บึงกาฬ เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม เพื่อรองรับน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้นใน 1-2 วันนี้ โดยเพิ่มติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในหลายจุด อาทิ รอบศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ และเขตพื้นที่ อ.โซ่พิสัย และ อ.ปากคาด ให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น
ที่ จ.สกลนคร เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งติดตั้งระบบผันน้ำแบบกาลักน้ำที่เขื่อนน้ำอูนให้ครบ 25 ท่อภายในวันพรุ่งนี้ ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง เหลือส่วนต่างน้ำระบายออกน้อยกว่าน้ำไหลเข้าไม่ถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่เคยมีส่วนต่างสูงสุดเกือบ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อ 5 วันก่อน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการ 20 จังหวัดภาคอีสานเข้าร่วม เน้นย้ำเรื่องของการบริหารจัดการน้ำและการเกษตรในทุกรูปแบบ ทั้งในส่วนของพืชไร่ พืชสวน และการประมงทุกรูปแบบ.-สำนักข่าวไทย