ตรัง 20 ก.ย.-ม้าน้ำเป็นปลาสวยงาม สัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ในคู่ครอง และมีสรรพคุณทางยาเพิ่มสมรรถภาพ จึงเป็นที่ต้องการสูงของชาวเอเชีย ขณะนี้ม้าน้ำมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ทำให้ทั่วโลกต้องเร่งฟื้นฟู และวันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ม้าน้ำคืนสู่ทะเลเป็นครั้งแรก
ม้าน้ำหลากสายพันธุ์ทั่วโลก อยู่ในขั้นวิกฤติเสี่ยงสูญพันธุ์ มีจำนวนลดลง 30-50% จึงถูกขึ้นบัญชีไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เพราะถูกคุกคามจากน้ำมือมนุษย์ โดยเฉพาะแถบเอเชียนิยมนำไปทำเป็นยาโด๊ป ของที่ระลึก ทั้งตากแห้งและมีชีวิต ไทยเป็นประเทศส่งออกม้าน้ำรายใหญ่ ทำให้สถานการณ์การค้าม้าน้ำถูกจัดอยู่ในบัญชีน่าห่วงใยระยะเร่งด่วนด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือ ม้าน้ำดำ ม้าน้ำหนาม และม้าน้ำยักษ์ จากทั้งหมด 7 สายพันธุ์ที่สำรวจพบในน่านน้ำไทย
แม้พยายามฟื้นฟูม้าน้ำหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่คืนม้าน้ำสู่ธรรมชาติ โดยกรมประมงเพาะพันธุ์และอนุบาลม้าน้ำจนตัวเต็มวัย ก่อนส่งมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปล่อยสู่ทะเล พ่อ-แม่พันธุ์ 1 คู่จะให้ลูกครั้งละ 700-1,000ตัว
สำหรับพันธุ์ม้าน้ำที่มีการส่งมอบครั้งนี้ มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ ม้าน้ำหนามตัวเต็มวัย 71 ตัว ม้าน้ำดำ 29 ตัว และลูกม้าน้ำอายุ 10 วัน 350 ตัว ส่วนสายพันธุ์ที่เหลือจะมีการเพาะพันธุ์ในระยะถัดไป
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องฟื้นฟูประชากรม้าน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากมีแหล่งหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์และผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันเป็นที่อยู่อาศัยของม้าน้ำ ตั้งเป้าให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 ตัว
ม้าน้ำชุดแรกทั้ง 450 ตัว ถูกนำไปปล่อยบริเวณเกาะมุกห่างจากชายฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตร ช่วงแรกจำเป็นต้องทำกรงครอบ เพื่อป้องกันศัตรูและให้ม้าน้ำปรับตัวในการดำรงชีวิตใต้ทะเลลึก พร้อมติดตั้งกล้องศึกษาพฤติกรรม ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก
ไม่เพียงฟื้นฟูจำนวนม้าน้ำ แต่ไทยเตรียมที่จะเสนอให้ม้าน้ำเป็นสัตว์คุ้มครอง และให้งดการทำประมงในแหล่งที่อยู่อาศัยของม้าน้ำ โดยประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ลดความเสี่ยงที่ม้าน้ำจะติดลอกอวนชาวประมง หวังฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้ท้องทะเลไทย และอนาคตอาจทำให้ไซเตส ถอนแบล็กลิสต์ให้ไทย ว่าด้วยความกังวลต่อจำนวนม้าน้ำที่ใกล้สูญพันธุ์.-สำนักข่าวไทย