กรุงเทพฯ5 ส.ค.-กฟผ. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในเขื่อนใกล้ชิด โดยศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ได้สั่งระบายน้ำเพิ่ม3เขื่อนใหญ่ทั้งเขื่อนที่มีน้ำสูงเกินเกณฑ์ควบคุมและเกณฑ์ปกติ คือ“เขื่อนวชิราลงกรณ-เขื่อนศรีนครินทร์-เขื่อนสิริกิติ์” รองรับน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น 5-9 ส.ค.นี้
นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อน กฟผ. ทั่วประเทศ วันนี้ (5 สิงหาคม 2561) ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกบางแห่งที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ” ได้สั่งการให้เร่งการระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำในเขื่อนที่มีระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมURCให้กลับสู่เกณฑ์ควบคุมโดยเร็ว เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำเพียงพอสำหรับรองรับน้ำฝนที่จะมีเข้ามาใหม่ตลอดช่วงฤดูฝนอีก 2 เดือนนั้น โดยทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ ของ กฟผ. ตั้งแต่วันที่ 5-12 ส.ค. 61 ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ ระบายน้ำในอัตราวันละ 43 ล้าน ลบ.ม./วัน โดย กฟผ. ได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ปภ.จังหวัด และประชาชนก่อนเพิ่มการระบาย 2 วันล่วงหน้า เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อม, เขื่อนสิริกิติ์ เดิมมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม URC ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำขึ้นเป็นวันละ 32 ล้าน ลบ.ม. ทำให้วันนี้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ลดลงอยู่ในเกณฑ์ควบคุม URC แล้ว,เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในเกณฑ์น้ำมาก จึงได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำขึ้นเป็นวันละ 20 ล้าน ลบ.ม/วัน โดยเขื่อนศรีนครินทร์นี้ ยังยืนยันรับน้ำได้อีกมาก
“กรณี น้ำจากลำห้วยบ้องตี้ที่ไหลบ่าทำให้ฝายน้ำล้นซึ่งเป็นทางสัญจรของชาวบ้านหาดงิ้ว ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พังเสียหาย ไม่ได้เกิดจากการระบายน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ เนื่องจากลำห้วยบ้องตี้ซึ่งเป็นลำห้วยหนึ่งที่ไหลลงแม่น้ำแควน้อยอยู่ในพื้นที่สูงกว่าแม่น้ำแควน้อยมาก น้ำจากแม่น้ำแควน้อยจึงไม่สามารถย้อนกลับไปยังลำห้วยบ้องตี้ได้ ส่วนสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ทำให้น้ำในลำห้วยบ้องตี้ไหลบ่าเข้าท่วมที่บ้านหาดงิ้ว เบื้องต้นหน่วยงานราชการ ทหาร และ อบต.วังกระแจะ ได้เข้าให้ความช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว” นายณัฐวุฒิ กล่าว
ส่วนเขื่อนที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ซึ่งมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ไม่กระทบกับความมั่นคงของเขื่อน ได้แก่ ภาคตะวันตก เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 84 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 1,411 ล้าน ลบ.ม. และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 32 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 1,655 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 65 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 58 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 63 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 62 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนเเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 57 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 5,766 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 67 สามารถรองรับน้ำได้อีก 3,160 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 87 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 2,356 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 55 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 878 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนห้วยกุ่ม มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 29 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 14 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 78 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 1,234 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 56 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 637 ล้าน ลบ.ม.
ในข่วงสภาวะวิกฤตินี้ กฟผ.ได้ส่งทีมประจำที่ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในช่วงภาวะวิกฤติ เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดได้ทางเว็บไซต์ http://www.water.egat.co.th และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย