กรุงเทพฯ 21 ก.ย. – ครบรอบ 1 ปี สำหรับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ หลังมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2558 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานทุกประเภท ทั้งบทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพข่าว รวมถึงภาพยนตร์ และป้องกันผู้ที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากงานนั้น พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้กำหนดโทษไว้ชัดเจน และมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น สำนักข่าวไทย มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ” ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หลังจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ มา 1 ปีแล้ว
การบังคับใช้“กฎหมายลิขสิทธิ์”ครบรอบ 1 ปีเป็นอย่างไรบ้าง?
มีคนจำนวนไม่น้อยยังไม่ทราบหรือตระหนักถึงปัญหาลิขสิทธิ์ คิดว่าทุกอย่างบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นรูป ข้อความ หรือข้อมูล สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งทำรายงานหรือนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ และมีประชาชนที่อาจไม่รู้หรือไม่สนใจเรื่องนี้มากนัก เมื่อโดนละเมิดก็ไม่สนใจไปติดตาม แต่เริ่มมีมากขึ้นจากคนที่รู้กฎหมายรู้ดีว่าตัวเองมีสิทธิ์ในเนื้อหาข้อมูล หรือแม้กระทั่งส่วนที่เป็นภาพของตัวเองก็มีการติดตามมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้มีหลายคดีเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดใช้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลภาพ ข้อมูลเสียง หรือข้อมูลต่างๆ เริ่มมีออกมาแต่ว่าอาจยังไม่เป็นที่ปรากฏมากนัก เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งอาจยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้มากนัก
การรับรู้เรื่อง“กฎหมายลิขสิทธิ์”เพิ่มมากขึ้นไหม?
“เรื่องนี้คนยังไม่สนใจมากนักยังขาดเรื่องการประชาสัมพันธ์สื่อสารถึงประชาชน” แต่มีคนบางกลุ่มที่ทำงานในเชิงแนวคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป หรือตัวเนื้อหาต่างๆ แล้วโดนละเมิดลิขสิทธิ์ เริ่มตระหนักว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะใช้ตัวกฎหมายให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ผลิตข่าวออนไลน์ในสำนักข่าวมาตรฐานต่างๆ เขารวมตัวกันในนามของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ พูดถึงผู้ที่ละเมิดนำข่าวของเขาไปลงแล้วไปหารายได้ที่ไปติดโฆษณาใน Google หรือในส่วนอื่นๆ บางแห่งนำไปผลิตเป็นแอพพลิเคชั่นขายให้โหลดในแอปเปิล แล้วดึงฟีดข่าวของสำนักข่าวต่างๆ ไป จึงทำให้มีการรวมตัวฟ้องร้องทั้งในเชิงของเว็บไซต์ และฟ้องร้องในตัวที่เป็นต้นทางของ Google โดยใช้ตัวกฎหมายเหล่านี้เรียกร้องสิทธิของตัวเองเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น
แนวทางการแก้ไขปัญหา?
“บ่มเพาะตั้งแต่เด็กๆ” ตอนเรียนหนังสือที่ผ่านมาเราอาจยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย เด็กอาจจะไปลอกหนังสือมาจากเล่มโน้นเล่มนี้ก็เอามาได้ไม่เป็นไรโดยไม่มีการอ้างอิง แต่ในต่างประเทศไม่ได้ ถ้าไปเอาข้อมูลใดมาก็ตาม ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเอามาจากที่ไหน หากนำมาแล้วไม่อ้างอิงถึงอาจโดนฟ้องร้องได้ “เป็นการฝึกตั้งแต่เด็กให้เคารพสิทธิ์ของผู้อื่นให้เกียรติต้นทาง” และหากนำไปทำในเชิงธุรกิจต้องคำนึงด้วยว่าต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับคนที่ไปเอาผลงานเขามาหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา รูปภาพ คลิปต่างๆ
“ลิขสิทธิ์”คุ้มครองอะไรบ้างที่สามารถนำไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาต?
ต้องดูรายละเอียดหลายๆ อย่าง เช่น ถ้านำไปใช้เพื่อการศึกษา เขาอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไร แต่หากนำไปใช้เรื่องการสื่อสารแล้วไปหารายได้ด้วย จะต้องดูรายละเอียดเจาะลึกย่อยลงไป
ตัวอย่างการละเมิดลิขสิทธิ์
เคสของข่าวผู้ผลิตข่าวต่างๆ หรือแม้กระทั่งบางสำนักข่าว บางเว็บไซต์ไปนำภาพในโลกออนไลน์มา เช่น ภาพวิวสวยๆ ที่เสิร์ชหาภาพจาก Google แล้วดึงออกมาทำใส่เว็บไซต์หรือบล็อกของตัวเอง แต่ปรากฏว่าเจ้าของภาพมาตามเจอ จนเกิดการฟ้องหรือเรียกร้องให้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท หรือหากเป็นรายใหญ่ๆ ก็ถึงหลักล้าน แต่ภาพเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นภาพจากต่างประเทศ “อย่าลืมว่าในโลกออนไลน์เราละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ละเมิดเฉพาะของคนไทย หากของต่างชาติเราไปละเมิดหยิบก๊อปมา เราคิดว่าไม่เป็นไร แต่เขาตระหนักถึงลิขสิทธิ์ตรงนั้น เขาก็ตามหามาฟ้องได้”
การแชร์ต้องระมัดระวังอย่างไรไม่ให้เกิดการ“เหยียดหยาม”ในโซเชียล?
คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล เราไม่สามารถไปหมิ่นประมาทผู้อื่น การเคารพสิทธิเป็นส่วนสำคัญอยู่แล้ว เพราะทุกคนก็ไม่อยากให้ใครมาหมิ่นประมาทหรือละเมิดสิทธิ แม้กระทั่งในสื่อสังคมออนไลน์ก็ไม่ควรไปละเมิดหรือหมิ่นประมาทผู้อื่น
แบบไหนถือเป็นการ“ละเมิดเชิงเหยียดหยาม”?
การเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดศาสนา เหยียดความคิดความเชื่อของเขาว่าเราดีกว่าเหนือกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้กระทั่งรสนิยมบางอย่าง บางทีเราอาจจะชอบแบบหนึ่ง คนอื่นอาจจะชอบอีกแบบหนึ่ง “เรื่องรสนิยมที่แตกต่างกันเราต้องเคารพในความแตกต่าง”
จะทำอย่างไรให้คนที่โพสต์คลิปหรือข้อความต่างๆ บนโลกออนไลน์ตระหนักถึงการ“เหยียดหยาม”?
“สังคมไทยยังขาดการเรียนรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ” หรือสื่อดิจิทัลที่เข้ามาใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรายังไม่รู้ว่าสิ่งที่เราโพสต์ลงไปกระทบกับคนจำนวนมาก อารมณ์ความรู้สึกของคนโดนกระตุ้นได้ง่ายขึ้น “บางทีเราไปเหยียดว่าเขาเป็นคนชาตินั้นชาตินี้ ในทางกลับกันถ้ามีคนมาบอกว่า เพราะคุณเป็นคนไทยคุณเลยทำอย่างนี้ เรายังรู้สึกไม่ดีว่า เอ๊ะ! ..ทำไมมาเหมารวมอย่างนี้ น่าจะพูดเฉพาะเป็นกรณีไปมากกว่าหรือไม่?” ก็เป็นสิ่งหนึ่งใจเขาใจเรา ถ้าไม่อยากให้คนอื่นมาว่าแบบนี้ เราเองก็อาจจะไม่ต้องทำในลักษณะนั้นในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะสื่อสังคมออนไลน์ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ“เราเข้าไปอยู่ในสังคมออนไลน์ปุ๊บ..เราได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ตลอดเวลา เหมือนกับทิ้งรอยเท้าเอาไว้ในโลกดิจิทัล อีก 5-10 ปี เราก็สามารถขุดคุ้ยเจอก็ได้” จะโพสต์จะแชร์อะไรคิดให้ดีก่อน เพราะบางทีโพสต์ลงไปด้วยความสนุกสนาน หรือไม่ได้คิด หรือคิดน้อยไปหน่อย แต่มันมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก แล้วอาจจะย้อนกลับมาหาเราอีกในวันข้างหน้าก็ได้
การโพสต์คลิปข้อความที่เกี่ยวกับ“เด็ก”ต้องระวังอะไรบ้าง?
เด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะ“เด็กอาจจะได้รับผลกระทบในเชิงจิตวิทยาที่ผู้ใหญ่อาจคิดไม่ถึง” ซึ่งบางทีโพสต์ไปแซวเล่นหรือล้อเลียนเด็กเล่นๆ โดยที่ไม่คิดอะไร แต่เด็กอาจคิดก็ได้ หรือวันข้างหน้าเด็กอาจจะได้“รับผลกระทบจากการที่โดนล้อเลียน ถือเป็นการละเมิดอย่างหนึ่ง” เช่น ในหลายๆ ประเทศ การที่จะนำเด็กหรือบุคคลที่เขาไม่ยินยอมมาลงในโลกสื่อสังคมออนไลน์ ยกตัวอย่างแม้กระทั่งถ่ายรูปในสถานีรถไฟแล้วเห็นหน้าคนอื่นอยู่ยังต้องเบลอหน้าเขา ถึงแม้ว่าจะถ่ายอยู่เฉยๆ เพราะเขาถือเรื่องสิทธิส่วนบุคคล เขาอาจจะไม่อยากให้ใครเห็นหรือรู้ว่าเขามาที่นี่ก็ได้ หรือยกตัวอย่าง Google maps เห็นอะไรต่างๆ ในพื้นที่บางพื้นที่ถ่ายให้เห็นหน้าคนยังต้องเบลอหน้าหรือเบลอทะเบียนรถด้วย อันนี้ก็ถือเป็นการละเมิดพื้นที่ส่วนตัวอย่างหนึ่ง
สื่อฯ ควรระมัดระวังเรื่องใดบ้างในการนำเสนอ?
หากเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก สื่อมวลชนยิ่งต้องมีความละเอียดรอบคอบและกลั่นกรองมากขึ้นหากจะหยิบยกประเด็นใดหรือภาพใดภาพหนึ่งมานำเสนอ ต้องคำนึงว่าจะมีผลกระทบกับคนอื่นในสังคมมากน้อยเพียงใด
แนวทางต่อไปจะมีการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ส่วนไหนบ้าง?
เน้นเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิ การเรียกร้องสิทธิของตัวเองเมื่อถูกระเมิดว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ “ดร.มานะ” แนะนำว่าหากนำข้อมูลอะไรในโลกออนไลน์มาใช้ควร“อ้างอิง”ถึงที่มา หรือควรตรวจสอบให้ดีว่าเป็นข้อมูลที่เจ้าของยินยอมที่จะให้เปิดเผยโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์หรือไม่ บางข้อมูลที่เจ้าของพร้อมเปิดเผยก็จะระบุไว้ชัดเจนว่าสามารถนำมาใช้ได้ หรือบางรูปเจ้าของจะประกาศไว้ในเว็บว่าสามารถนำไปใช้ได้ไม่มีปัญหา แต่โดยทั่วไปหากนำเอาข้อมูลของคนอื่นมาก็ควรบอกว่านำมาจากที่ไหน
ในยุคที่สื่อออนไลน์ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมาก อนาคตคงจะมีกลวิธีในการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เรายังคาดไม่ถึงอีกมาก การเรียนรู้กฎหมายลิขสิทธิ์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักสร้างสรรค์จะใช้เพื่อการยับยั้งการทำลายมูลค่าของความคิดได้ ชาวเน็ตเมื่อเข้าไปในสื่อสังคมออนไลน์เราได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ตลอดเวลาไม่ว่าจะโพสต์หรือแชร์อะไร นอกจากจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดหรือเกิดการเหยียดหยามในโลกออนไลน์เช่นที่ผ่านมา
• ทีมกองบรรณาธิการ NEW MEDIA สำนักข่าวไทย รายงาน •