นิวยอร์ก 21 ก.ย.- นายกรัฐมนตรีกล่าวถัอยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ชูหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุ ความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนา จะช่วยสนับสนุนแนวทางพัฒนาที่เหมาะสมกับ พร้อมแจงสถานการณ์ในประเทศ ย้ำ ผลประชามติที่ผ่านมา สะท้อนความตั้งใจของรัฐบาล นำประเทศสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ย้ำ เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ปี 60
“จิตตานันท์ นิกรยานนท์” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ระหว่างวันที่ 18-25 กันยายน 2559 ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา รายงานว่า เวลา 21.00 น. วันที่ 21 กันยายน 2559 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทย 11 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป สมัยสามัญ ในหัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา” (The Sustainable Development Goals: a universal push to transform our world)
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีที่แล้วประชาคมโลกได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ร่วมกันเพื่อผลักดันให้การพัฒนาของโลกดำเนินไปอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกัคนทุกกลุ่ม เพิ่มการเข้าถึงโอกาสและความเจริญอย่างเท่าเทียม โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันเป็นการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาครั้งสำคัญของสหประชาชาติให้ครอบคลุม และสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
“ไทยได้รับเกียรติและโอกาส ให้ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ในปีนี้ ได้วางเป้าหมาย ที่จะนำวิสัยทัศน์ระดับโลกข้างต้นมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ โดยมีบทบาทประสาน ผลักดัน เชื่อมโยงผลประโยชน์ของกลุ่มในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอตัวอย่างประสบการณ์ และบทเรียนของไทย ในการก้าวผ่านอุปสรรคด้านการพัฒนา โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม บนแนวคิดความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน พร้อมกับปลูกฝังคุณธรรม และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้สังคมพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำหลัก SEP ไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาในบริบทต่าง ๆ กันแล้วกว่า 20 ประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 เมื่อต้นปี ไทยได้ดำเนินโครงการ SEP for SDGs Partnership การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศ ผ่านความร่วมมือทวิภาคี และไตรภาคีในรูปแบบต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง 17 ข้อ มาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยเห็นว่า ไม่มีสูตรตายตัว ในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เป็นไปตามศักยภาพ และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศ และความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนา เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะช่วยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ภายในประเทศว่า รัฐบาลได้วางรากฐาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประชาชนได้ใช้สิทธิลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว และกำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปตาม Roadmap ได้ในปลายปี 2560
“การออกเสียงลงประชามตินี้ สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล ที่จะส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคง เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวที่ไม่จำเป็น เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาความมั่นคง การทุจริต การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังและรอการแก้ไข เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งเป็นการวางรากฐาน เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และส่งเสริมธรรมาภิบาล โดยหวังให้ประเทศไทยและประชาชนไทย เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมโลกอย่างยั่งยืนต่อไป .- สำนักข่าวไทย