รร.ดิแอทธินี 9 ก.ค. – “สมคิด” ระบุรัฐบาลเตรียมออกมาตรการขจัดขยะ ส่งเสริมดูแลสิ่งแวดล้อมเร็ว ๆ นี้ หวังดึงภาคเอกชนมีส่วน ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ-กกร.มุ่งขับเคลื่อนจริงจัง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างร่วมเปิดงาน “SD Symposium 2018” เป็นงานสัมมนาทางวิชาการในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และกล่าวย้ำว่า รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พัฒนาประเทศเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ฟื้นฟูที่สมดุลกับการใช้ประโยชน์ โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น นโยบายส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อช่วยให้เกิดการแบ่งปันและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นโยบายส่งเสริมการจัดการขยะและของเสียอย่างเหมาะสม โดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลหารือทั้งในที่ประชุม ครม. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และยังต้องหารือเพิ่มทั้งกระทรวงมหาดไทย อุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง เพื่อออกมาตรการดูแลและส่งเสริม แนวทางการลดของเสีย การรีไซเคิล การดึงทุกภาคส่วนเข้ามาผลักดันให้มีพลัง ทั้งตลาดหลักทรัพแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย และอีกหลายหน่วยงาน การปลูกฝังเด็กและเยาวชนในการใช้สินค้าหมุนเวียน เพราะต่างประเทศเริ่มเดินหน้าไปมากแล้ว เช่น การผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งกำหนดให้มีส่วนผสมของรีไซเคิลสัดส่วนเท่าใด เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาตรการทั้งหมดคาดว่าจะสรุปชัดเจนเร็ว ๆ นี้ เพราะการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงต้องให้ทุกภาคมีส่วนร่วม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ขยะทุกชนิดและสิ่งที่เป็นผลพวงจากการอุปโภคบริโภคหมุนเวียนกลับมาใช้เป็นทรัพยากร เพื่อช่วยสร้างประเทศให้มั่นคง ยั่งยืน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบัน เพราะเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นเพียงการนำทรัพยากรมาผลิตและจบที่ใช้แล้วทิ้ง เปลี่ยนให้เป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรมากที่สุด ด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน เอสซีจีในฐานะภาคธุรกิจจึงขอเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคส่วนผ่านจัดงาน SD Symposium 2018 จึงได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในเอสซีจี เพื่อขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1. การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก Green Carton ที่ใช้วัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ทั้งยังทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น และการลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 23 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflowTM System ระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และการเพิ่มความแข็งแรงทนทานของสินค้า เช่น ปูนโครงสร้างทนน้ำทะเล ที่มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า
2.การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลมากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง และ 3. Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษ เพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนา CIERRATM ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว (Single Material) แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุหลายชนิด ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล และการนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
Mr. Peter Bakker, President and CEO of World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) กล่าวเสริมว่า การปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุด การทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายในวงการธุรกิจได้ จะต้องเริ่มจากจิตสำนึกของผู้บริหารและคนในองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อน ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนก็ต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ดังนั้น หากมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จะช่วยให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมที่สามารถใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้องค์กรลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเติบโตได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals, SDGs) บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้.- สำนักข่าวไทย