กรุงเทพฯ 28 มิ.ย. – บีทีเอสจับมือ กสทช.และทีโอที สรุปแก้ปัญหารถไฟฟ้าขัดข้อง มั่นใจเดินถูกทางระงับคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ต ทำให้ไม่มีปัญหาขัดข้อง รอผลเปลี่ยนคลื่น 29 มิ.ย. และวัดผลการให้บริการ 2 ก.ค.นี้
นายอาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กล่าวว่า การแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง 4 ฝ่าย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บีทีเอส บมจ.ทีโอที และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) ได้หารือแนวทางแก้ไขและดำเนินการตรวจสอบจนถึงขณะนี้มั่นใจว่าแนวทางแก้ปัญหาเดินถูกทาง เนื่องจากการรบกวนสัญญาณสื่อสารจากความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ต ที่มีต่อสัญญาณวิทยุของบีทีเอสที่ใช้ย่านความถี่ 2400 เมกะเฮิร์ต ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากปิดคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่าไม่มีปัญหาทำให้รถไฟฟ้าขัดข้องตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (28 มิ.ย.)
อย่างไรก็ตาม ตามข้อแนะนำของ กสทช.ที่บีทีเอสจะรับมาดำเนินการ โดยการเปลี่ยนคลื่นความถี่ใช้คลื่นความถี่ใกล้ 2500 เมกะเฮิร์ต ซึ่งจะติดตั้งระบบของบริษัทใหม่แทนระบบเดิมเสร็จคืนวันที่ 29 มิถุนายนนี้ หลังจากนั้นจะทำการติดตามประมินผลว่าการเปลี่ยนคลื่นความถี่มีผลอย่างไร ซึ่งต้องวัดผลช่วงเช้าวันที่ 2 กรกฎาคมในช่วงมีการเดินทางจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนใช้คลื่นโทรศัพท์จำนวนมาก เมื่อดำเนินการจนมั่นใจแล้วจะมีการแจ้งให้ทีโอที คืนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตให้ประชาชนใช้ตามปกติอีกครั้ง
ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการบีทีเอส กล่าวว่า มาตรการเยียวยาที่บีทีเอสจะมอบให้แก่ผู้ใช้บริการนั้น จะสรุปผลสัปดาห์หน้า หลังหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร และมั่นใจว่าสามารถแก้ไขปัญหาจนยุติเรียบร้อยแล้ว ส่วนค่าปรับ 1.8 ล้านบาทที่ กทม.ให้ข่าวนั้น ขณะนี้ได้รับทราบจากสื่อฯ และจะหารือกับ กทม.อีกครั้ง รวมถึงบ่ายนี้จะหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมแผนสำรองกรณีวันที่ 2 กรกฎาคมการแก้ปัญหายังไม่สำเร็จและต้องขนถ่ายผู้โดยสาร
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ทีโอไอยืนยันว่าคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลรบกวนต่อระบบอาณัติสัญญาณบีทีเอส แต่ยังไม่ทราบว่าในส่วนของคลื่นลูกข่ายหรือโทรศัพท์มือถือที่ใช้คลื่น 2300 เมกะเฮิร์ต ปัจจุบันโทรศัพท์จำหน่ายในตลาดมีหลายมาตรฐาน ดังนั้น จึงไม่ทราบว่ามีสาเหตุมาจากการใช้คลื่นลูกข่ายที่เป็นการรบกวนสัญญาณหรือไม่ นอกจากนี้ ในอนาคตยอมรับว่าบีทีเอสจำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่ม เนื่องจากการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณอาจมาจากการส่งคลื่นความถี่ระหว่างอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในอาคารตามแนวเส้นทางไม่ว่ากล้องซีซีทีวี หรืออุปกรณ์อื่น ซึ่งบีทีเอสจำเป็นต้องสแกนและหามาตรการแก้ไขระยะยาว.-สำนักข่าวไทย