เชียงใหม่ 24 ก.ย.-พบผู้ป่วยไวรัสซิกาในพื้นที่ ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เป็นหญิงวัย 45 ปี และเป็นรายที่ 14 ของ จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่เตรียมปูพรมกำจัดตัวแก่และลูกน้ำยุงลายในวันนี้
ผู้ป่วยเป็นพนักงานบริษัทขายประกัน เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในตัวเมืองเชียงใหม่ ผลตรวจเมื่อวานนี้พบติดเชื้อไวรัสซิกา เจ้าตัวเผยว่า มีไข้ต่ำๆ 36 .6 องศาเซสเซียส มีผื่นสีแดง เป็นเม็ดขึ้นตามแขน แต่ไม่มีอาการคัน ปวดข้อ และตาแดง ขณะนี้ออกจากโรงพยาบาลมาพักที่บ้านแล้ว ส่วนจะถูกยุงกัดจากไหนไม่รู้ วันปกติจะอยู่ที่ทำงานทั้งวัน และช่วงวันที่ 9-11 กันยายนที่ผ่านมา เดินทางไปเยี่ยมแม่ที่ จ.พะเยา ขณะที่เพื่อนบ้านที่อยู่ตรงกันข้ามกับบ้านพักผู้ป่วย ยังมีความกังวล ต้องอยู่แต่ในบ้าน และสำรวจคว่ำภาชนะรอบบ้าน และฉีดพ่นยาฆ่ายุงรอบบ้าน เพื่อเป็นการกำจัดตัวแก่ยุงลาย รวมทั้งคว่ำภาชะตามรอบบ้านเรือน
เมื่อคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ใหญ่บ้าน เรียกประชุมชาวบ้านหมู่บ้านที่มีผู้ป่วยไวรัสซิกา รายที่ 14 ของจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านในการเฝ้าระวังและป้องกันยุงลายกัด ซึ่งเป็นพาหะของไวรัสซิกา พร้อมแจกทรายอะเบท และยาฉีดพ่นยุงกระป๋อง เพื่อนำไปฉีดพ่นภายในบ้าน กำจัดตัวแก่ยุงลาย เพื่อเป็นการป้องกันในเบื้องต้น และช่วงสายของวันนี้ (24 ก.ย.) จะระดมเจ้าหน้าที่ อสม.ออกกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามภาชนะที่มีน้ำขัง และออกฉีดพ่นสารเคมีรอบหมู่บ้านในรัศมี 100 เมตร รอบบ้านผู้ป่วย พร้อมทั้งอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ไม่ต้องตื่นตระหนก ซึ่งไวรัสซิกา เมื่อได้รับเชื้อจะมีไข้ต่ำ มีผื่นขึ้นตามร่างกาย แต่จะอันตรายสำหรับคนตั้งครรภ์เท่านั้น ที่จะทำให้เด็กในครรภ์มีศีรษะเล็ก
ทั้งนี้ ให้ชาวบ้านช่วยกันสำรวจตามรอบบ้านเรือน หากมีภาชนะที่มีน้ำขัง หรือมีลูกน้ำลุงลาย ให้กำจัดหรือคว่ำภาชนะ เพื่อเป็นการตัดวงจรของยุงลาย ไม่ให้มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ โดยจะมีการสำรวจทุกตารางนิ้ว เพื่อให้ในพื้นที่มียุงลายเป็นศูนย์ และเฝ้าระวังออกตรวจซ้ำอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 5 วัน และตรวจจนครบ 28 วัน ตามมาตรการเฝ้าระวัง
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พบเด็กศีรษะเล็ก 3 ราย กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบยืนยันว่ามีความเกี่ยวข้องกับกับการพบเชื้อไวรัสซิกาในไทยหรือไม่ และจะนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง เนื่องจากการพบเด็กทารกศีรษะมีหลายกรณี อีกทั้งเป็นการพบนอกพื้นที่ที่พบการป่วยซิกา และไม่เกี่ยวข้องกับหรือสัมพันธ์การเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ 33 รายที่ขณะนี้เด็กคลอดออกมาแล้ว 8 ราย เป็นปกติดี และขณะนี้พบ 1 ใน 33 รายของหญิงตั้งครรภ์มีภาวะเสี่ยงเด็กศีรษะเล็ก 1 ราย
อย่างไรก็ตาม การพบเด็กทารกศีรษะเล็ก สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โอกาสการพบเด็กศีรษะเล็กจากโรคซิกา ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก สามารถพบขึ้นได้ร้อยละ 1.-สำนักข่าวไทย