จุฬาฯ 21 มิ.ย.-ผู้เดือดร้อนจากขยะพิษ 7 จังหวัด เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้แก้ปัญหาขยะพิษ พอใจแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลแต่ขอให้แก้กฎหมายเพื่อจัดการทั้งระบบ
ตัวแทนชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากขยะพิษ และขยะอิเลคทรอนิกส์ จาก7 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรีและสระบุรี ร่วมสะท้อนปัญหาความเดือดร้อน จากโรงงานด้านจัดการขยะและขยะพิษซึ่งก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่โรงงานเหล่านี้ขยายเข้ามาตั้งกิจการและดำเนินการ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และปัญหายังคงดำเนินอยู่ อย่างเช่นที่ตำบลเขาหินซ้อน ตำบลหนองแหน ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม /ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งชาวบ้านต้องทนกับปัญหาการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมมาทิ้งในพื้นที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี2555 จนถึงปัจจุบัน มีการขยายตัวของโรงงานรับกำจัดของเสียเพิ่มจำนวนมาก ทำให้เกิดผลระทบทั้งกลิ่นเหม็น น้ำเสียและความเสี่ยงต่อแหล่งน้ำใต้ดิน
เช่นเดียวกับชาวบ้านในอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ที่เดือดร้อนจากโรงงานรับบำบัดกากอุตสาหกรรม ในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ปล่อยน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็นไหลลงสู่คลองพานทอง แม้โรงงานปิดต้วลงตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีการจัดการของเสียภายในโรงงานแต่อย่างใด
ขณะที่ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีปัญหาโรงงานลักลอบทิ้งของเสียในที่นาชาวบ้าน ทำให้พืชผลเสียหาย แหล่งน้ำปนเปื้อน เป็นต้น
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหาขยะอุตสาหกรรม การนำเข้าขยะพิษ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาไนไทยได้ง่าย เกิดจากช่องโหว่ของกฎหมายไทย การบังคับใช้กฎหมาย บทลงโทษ และการปลดเงื่อนไขของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เอื้อต่อการเปิดเสรีการค้าให้นายทุนไทยและต่างประเทศ โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มทยอยเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นช่วงปี 2560 เนื่องจากจีน ซี่งเคยเป็นปลายทางของขยะเหล่านี้ ได้ปิดกั้นการนำเข้าทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งมาจากยุโรปและอเมริกา จำนวนมากถูกส่งไปยังประเทศที่ 3 รวมถึงประเทศไทยด้วย
จากรายงานสถานการณ์มลพิษประเทศไทยในปี 2559 ประเทศไทยมีขยะอุตสาหกรรมทั้งขยะอันตรายและไม่อันตราย สูงถึง 37.4ล้านตันต่อปีขณะที่ความสามารถของไทยในการกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั่วไปทำได้เพียงร้อยละ40 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ
ดังนั้นทางมูนิธิบูรณะนิเวศนร่วมกับกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังโดยขอให้ยกเลิกคำสั่งว่าหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่4/ 2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภทเนื่องจากคำสั่งดังกล่าวทำให้โรงงานหรือกิจการเกี่ยวกับการกำจัดคัดแยกและการจัดการขยะทั้งอันตรายและไม่อันตรายสามารถตั้งได้ในพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ที่ควรรักษาไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม
ขอให้เร่งออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภทขยะอิเล็คทรอนิกส์และขยะมูลฝอยหรือวัสดุใช้แล้ว4ประเภทได้แก่ขยะพลาสติกตะกรันวาเนเลียม ขยะกระดาษที่ไม่จัดประเภทและขยะจำพวกสิ่งทอบางชนิด เนื่องจากพบว่าการนำเข้าขยะเหล่านี้เพราะมีการปนเปื้อนสารอันตราย
ซึ่งรัฐบาลไทยควรเร่งนโยบายห้ามนำเข้าขยะเหล่านี้ภายในปี 2561 และยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าและใบอนุญาตตั้งโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้ากลุ่มนี้ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยตกเป็นแหล่งรองรับขยะอันตรายจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆอีกหลายแห่งที่เคยส่งออกขยะเหล่านี้ไปจัดการในประเทศจีน และขอให้มีการสอบสวนใบอนุญาตการนำเข้าและใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 สำหรับกิจการคัดแยกและฝังกลบและโรงงานลำดับที่ 106 สำหรับกิจการแปรรูปของเสียและโรงงานที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลของเสียว่ามีความเหมาะสมหรือไม่รวมถึงการสอบสวนดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการได้รับผลประโยชน์อันมิชอบด้วย
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวถึงกรณีผลประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เมื่อวานนี้ที่ เตรียมยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ว่า เห็นด้วยกับมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลครั้งนี้ ที่ทำได้รวดเร็ว ทั้งการเตรียมยกเลิกการนำเข้า การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ แต่เห็นว่าในการปฎิบัติจริงอาจมีปัญหาแนวปฏิบัติขัดแย้งกับข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประกาศคสช.4/2559 ที่ส่งเสริมให้มีการขยายโรงงาน หากไประงับ และอาจเป็นช่องว่างให้รัฐถูกฟ้องร้องได้ รัฐบาลจึงควรปฎิรูปกฎหมายเรื่องนี้ทั้งระบบ เพิ่อให้การแก้ไขปัญหาทำได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าวทางมูลนิธิบูรณะเวลาประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย.-สำนักข่าวไทย