กรุงเทพฯ 20 มิ.ย. – กรมสรรพสามิตแจงเก็บภาษีผู้ประกอบการสุรา – เบียร์ล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการชำระภาษีที่เกิดขึ้นจริง
จากกรณีสื่อนำเสนอข้อมูลว่าขณะนี้มีกระแสข่าวว่ากรมสรรพสามิตขอร้องแกมบังคับให้ผู้ประกอบการสุรา-เบียร์ ต้องชำระภาษีล่วงหน้า เพื่อให้การเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมาย โดยสอดรับกับที่ก่อนหน้านี้ออกประกาศให้ผู้ประกอบการบุหรี่ชำระเงินสด เพื่อซื้อแสตมป์ล่วงหน้า 3 เดือน โดยห้ามวางแบงก์การันตีเหมือนในอดีต ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ คอลัมนิสต์พยายามชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ต้องดำเนินการเช่นนี้เกิดจากการที่รายได้ของรัฐที่จะต้องได้รับจาก กสทช.มีแนวโน้มขาดหายไป จากกรณีไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของรัฐเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 60- พ.ค.61) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,571,788 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 60,008 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 สำหรับกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บรายได้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของกรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2561 และคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2561 จะสามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีเพิ่มขณะนี้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ เมื่อต้นปีงบประมาณ 2561 กรมสรรพสามิตได้ปรับเปลี่ยนวิธีการชำระภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ใหม่ โดยให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเบียร์และน้ำมันสามารถชำระภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งผลของการใช้สิทธิ์ชำระภาษีดังกล่าวนี้ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในการตั้งเป้าหมายรายได้ภาษีสรรพสามิตปีงบประมาณ 2561 ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนพระราชบัญญัติจะมีผลบังคับใช้ และการใช้สิทธิ์ชำระภาษีดังกล่าวดำเนินการเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น ๆ อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น
สำหรับกรณีให้ผู้ประกอบการยาสูบสามารถซื้อแสตมป์ล่วงหน้าแทนการใช้สัญญาค้ำประกัน ค่าภาษีนั้น เนื่องจากเดิมการชำระภาษียาสูบนำเข้าใช้ราคาซีไอเอฟเป็นฐานคำนวณภาษี ซึ่งมีความผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้การคำนวณภาษีชำระจริงขณะนำเข้าจำเป็นต้องใช้วิธีการวางสัญญาค้ำประกันภาษีไว้กับกรมสรรพสามิตก่อนเบิกแสตมป์แล้วจึงชำระภาษีภายหลัง หลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ได้มีการเปลี่ยนมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำเป็นฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งมีความชัดเจนในการคำนวณภาษี จึงปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีให้ชำระภาษีด้วยเงินสด ทำให้เกิดการสอดคล้องกับการชำระภาษีที่เกิดขึ้นจริง. – สำนักข่าวไทย