รร.รามาการ์เด้น 14 มิ.ย. – กรมการขนส่งทางบกจับมือทีดีอาร์ไอแจงผลศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคารถแท็กซี่ มีข้อเสนอปรับขึ้นค่าโดยสารตามเวลาการเดินทางแทนคำนวณมิเตอร์ช่วงรถติด ขณะที่ผู้ประกอบการแท็กซี่ยันขอปรับค่าโดยสารร้อยละ 10 เพื่อให้อยู่รอดและแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร
กรมการขนส่งทางบกร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่ โดยนายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานเปิดงานและกล่าวถึงผลการศึกษาที่กรมฯ มอบหมายให้ทีดีอาร์ไอศึกษา โดยยืนยันว่าค่าโดยสารเมื่อทีดีอาร์ไอสรุปผลส่งให้กรมฯ คาดว่าจะมีการดำเนินการเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะรวบรวมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในฐานะฝ่ายนโยบาย เพื่อดำเนินการต่อไป
ส่วนประเด็นปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวยังมี แต่เชื่อว่าหลังจาก พ.ร.บ.ขนส่งฉบับใหม่ที่รวม พ.ร.บ.รถยนต์และ พ.ร.บ.ขนส่งไว้ด้วยกันจะมีมาตรากำหนดให้ผู้ประกอบการเจ้าของอู่หรือสหกรณ์แท็กซี่ต้องเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายที่ขอใบอนุญาต หากปล่อยให้รถในสังกัดผิดกฎหมายหรือปฏิเสธผู้โดยสารบ่อยครั้งจะมีบทลงโทษชัดเจน เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง อยู่ระหว่างการพิจาณณาขั้นสุดท้ายของ สนช.
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงผลศึกษาว่า เบื้องต้นการปรับขึ้นค่าโดยสารยืนยันว่าอาจจะมีปัญหาการยอมรับ เนื่องจากการบริการในปัจจุบันรวมทั้งการปรับขึ้นค่าโดยสารไม่เป็นการการันตีว่าปัญหาปฏิเสธผู้โดยสารจะหมด จึงต้องใช้กลไกด้านอื่นรวมถึงบังคับใช้กฎหมาย ส่วนโครงสร้างราคาที่ศึกษานั้น พบข้อมูลว่าปัจจุบันการปรับค่าโดยสารทำได้หลายแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ ผู้ประกอบการจะต้องมีรายได้เฉลี่ยอย่างน้อย 1,600 บาทต่อวัน จึงจะคุ้มทุนต่อการดำเนินการ ส่วนการปรบขึ้นค่าโดยสารในส่วนมิเตอร์เริ่มต้น 35 บาท เห็นว่าไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นในส่วนนี้ ขณะที่การเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง ปัจจุบันการจัดเก็บมีอัตราเอื้อต่อการประกอบอาชีพอยู่แล้ว
ส่วนการปรับขึ้นที่เห็นว่าสามารถดำเนินการได้เหมาะสม คือ การเก็บค่าโดยสารตามมิเตอร์สำหรับอัตราที่รถติด ปัจจุบันตามกฎหมายกำหนดความเร็วของรถติดที่นำมาคำนวณค่าโดยสารกำหนด 6 กม.ต่อ ชม.ทีดีอาร์ไอเห็นว่าสามารถยกเลิก และคำนวณค่าโดยสารตามเวลาการเดินทางแทน เช่น กำหนดให้ใช้อัตราการเดินทาง 1 นาทีต่อ 50 สต. หากเดินทาง 1 ชม.จะเสียค่าโดยสารเพิ่ม 30 บาท เมื่อผู้ขับเดินทางไปพื้นที่รถไม่ติดผู้โดยสารก็จะเสียค่าเดินทางไม่มาก หากไปพื้นที่รถติดผู้ขับรถจะมีรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นก็จะเกิดความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เสนอในการประชุมจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ขับรถแท็กซี่นำมาประกอบการพิจารณาต่อไป
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยาม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลนี้เคยอนุมัติให้แท็กซี่ปรับปรุงบริการเพื่อแลกกับการปรับขึ้นค่าโดยสารร้อยละ 15 แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกปรับขึ้นร้อยละ 8 เมื่อปรับปรุงบริการเป็นที่น่าพอใจแล้วจะปรับอีกร้อยละ 7 แต่ขณะนี้ร้อยละ 7 ผ่านมา 4 ปีผู้ประกอบการยังไม่ได้รับอนุมัติให้ปรับ คิดว่าอัตราปรับขึ้นร้อยละ 7 เมื่อพิจารณาตามอัตราค่าครองชีพไม่น่าจะเพียงพอ โดยผู้ประกอบการเห็นว่าอย่างน้อยต้องอนุมัติให้ปรับขึ้นร้อยละ 10 จึงจะสามารถมีรายได้คุ้มกับต้นทุนดำเนินการ รวมทั้งช่วยลดปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร เนื่องจากต้องยอมรับว่าปัญหาจราจรติดขัดเป็นส่วนหนึ่งทำให้แท็กซี่ต้องปฏิเสธผู้โดยสาร เนื่องจากหากเจอรถติดชั่วโมงการเดินทางผู้ขับรถจะมีรายได้เพียง 100 บาท ขณะที่มีต้นทุนประกอบอาชีพ 120 บาทต่อชั่วโมง หากไม่ปฏิเสธผู้โดยสารผู้ขับก็ต้องรับสภาพขาดทุนจนทำให้รายได้ไม่เพียงพอ ยืนยันว่ารายได้แท็กซี่เมื่อหักต้นทุนต่าง ๆ มีรายได้เหลือต่อวันเพียง 200 บาทต่อกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หากอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารตามข้อเรียกร้องจะมีรายได้เหลือ 400 บาทต่อวัน พอต่อการประกอบอาชีพ
ส่วนปัญหาแท็กซี่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นนั้น ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยาม กล่าวว่า ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการแท็กซี่ต้องการความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่ถูกกฎหมายปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง ขณะที่มีผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาประกอบอาชีพโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายใด ๆ จึงอยากเห็นความชัดเจนถึงการใช้กฎหมายที่ปฏิบัติเท่าเทียมกันทุกกลุ่มด้วย. – สำนักข่าวไทย