กรุงเทพฯ 12 มิ.ย.-ผู้ผลิตโลชั่นผสมสารโคลเบทาซอลกำลังถูกผู้บริโภค ซึ่งกลายเป็นผู้เสียหายใช้แล้วผิวพัง ฟ้องร้องต่อศาลแผนกคดีผู้บริโภค นับเป็นคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มคดีแรกของไทยที่ศาลรับฟ้อง สารโคลเบทาซอลเป็นสเตียรอยด์ชนิดแรงที่สุด แพทย์ใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ห้ามใช้เกิน 2 สัปดาห์ ขณะที่โลชั่นนี้มีเลข อย.ถูกต้อง ผู้บริโภคจึงนึกว่าเชื่อถือได้ ติดตามจากรายงานพิเศษ “อันตรายสุขภาพ ฟ้องศาลคดีผู้บริโภค” วันนี้เสนอเป็นตอนที่ 2
หญิงสาวชาวอุบลราชธานี วัย 29 ปีคนนี้ เป็น 1 ใน โจทก์ 4 รายที่ร่วมกันฟ้องบริษัทผู้ผลิตโลชั่นยี่ห้อหนึ่งที่อวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยให้ผิวขาวใส แต่หลังใช้ไปได้ 2 ขวด เกิดอาการแสบคัน มีรอยแตกลึกในชั้นใต้ผิวหนัง รักษามา 1 ปี รอยเหล่านี้ก็ไม่หายไป
เธอเล่าว่า เมื่อ 2 ปีก่อนทำงานโรงงานที่ฉะเชิงเทรา โลชั่นยี่ห้อนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่สาวโรงงาน ราคาสูงถึงขวดละ 1,500 บาท แต่มีโปรโมชั่นใช้ก่อน จ่ายทีหลัง เมื่อเห็นมีผู้ใช้แล้วขาวขึ้น จึงซื้อตามกันนับสิบราย ทุกคนได้รับผลข้างเคียง ส่วนเธอเสียเงินค่าหมอค่ายา ซ้ำยังถูกตัวแทนข่มขู่ เพราะไปเตือนเพื่อนให้หยุดใช้ เมื่อร้องเรียนไปที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงพบว่ามีผู้เสียหายเช่นเดียวกันนี้หลายคน จึงตั้งใจฟ้องร้องให้เป็นคดีตัวอย่าง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ข้อมูลว่า ช่วงต้นปี 60 มีผู้ใช้โลชั่นยี่ห้อนี้ร้องเรียนเข้ามาหลายคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ เช่น รายแรกที่สงขลา สภาพผิวแตกลายแบบเดียวกับที่พัทลุง มูลนิธิฯ ส่งตัวอย่างโลชั่นตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบมีส่วนผสมของสเตียรอยด์กลุ่มโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต ห้ามใช้ในเครื่องสำอาง บริษัทผู้ผลิตปฏิเสธความรับผิดชอบ ส่วนแหล่งผลิตที่ปรากฏข้างขวดโลชั่น เมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่กลับพบว่า ไม่มีสถานที่ตั้งอยู่จริง มูลนิธิฯ จึงเป็นตัวกลางผู้บริโภคฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิต
เมื่อพิมพ์คำค้นหาโลชั่นยี่ห้อนี้ทางร้านค้าในอินเทอร์เน็ต พบว่ายังคงมีจำหน่ายอยู่ และน่าจะยังมีผู้สั่งซื้อมาใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะ อย.ยังไม่ได้ประกาศให้ระงับเลขจดแจ้ง ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำหนังสือร้องขอ ตามข้อมูลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่าโลชั่นนี้ผสมสารโคลเบทาซอล จึงมีการยื่นเรื่องร้องต่อศาลจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นสถานที่ผลิตโลชั่น ให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ อย.ดำเนินการระงับเลขจดแจ้งโลชั่นยี่ห้อนี้ด้วย
ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่า หากมีการร้องเรียน และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์ผสมสารอันตราย อย.สามารถระงับเลขเลขจดแจ้งได้
ผู้เสียหายที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้โลชั่นจาก 4 จังหวัด คือ พัทลุง สตูล นราธิวาส และอุบลราชธานี ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทผู้ผลิต ซึ่งอยู่ที่สตูลช่วงปลายปีที่แล้ว โดยมีผู้เสียหายร่วมลงชื่อแล้ว 44 ราย เรียกค่าเสียหาย 40 ล้านบาท ศาลนัดไต่สวนครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนี้ ถือเป็นคดีผู้บริโภคที่มีการฟ้องร้องเป็นกลุ่มคดีแรกที่ศาลรับฟ้อง และถือเป็นแบบอย่างให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ ตระหนักถึงสิทธิที่สำคัญนี้ของตัวเอง.-สำนักข่าวไทย