ก.ยุติธรรม 8 มิ.ย.-กรมพินิจฯเร่งปฏิรูปการศึกษาเด็กเยาวชนในสถานพินิจและศูนย์ฝึก หวังลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำ พบเด็กที่ถูกส่งตัวเข้ามาการศึกษาสูงสุดแค่ระดับประถม วางเป้าให้ออกไปแล้วมีอาชีพทำกินได้
ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมระดมความเห็นเพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนเหล่านี้อยู่แล้ว ทั้งในระบบการศึกษานอกโรงเรียนและการส่งเยาวชนในสถานพินิจไปเรียนร่วมกับนักเรียนปกติในโรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับสถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดที่ตั้งของสถานพินิจเหล่านั้นอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยระดับการศึกษาของเยาวชนที่เข้าสู่สถานพินิจระดับประถมศึกษา จึงต้องจัดแบ่งระดับการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องกับระยะเวลาที่ศาลสั่งควบคุม
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันมีตัวเลขของเยาวชนที่พ้นออกไปจากสถานพินิจฯแล้วกลับทำผิดซ้ำภายในระยะเวลา1ปีและกลับเข้ามาสู่สถานพินิจฯ หรือเรือนจำสูงถึงร้อยละ50-60 ในหลายประเทศ ในส่วนของประเทศไทยมีตัวเลขการทำผิดซ้ำและกลับเข้ามาทำผิดซ้ำอยู่ที่ร้อยละ40 ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาว่าหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันถูกต้องหรือไม่ หรือสามารถที่จะทำให้เยาวชน ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองจนไม่ต้องกลับไปทำผิดซ้ำได้อีก
ทั้งนี้ เบื้องต้นเห็นว่า ให้เรียนเฉพาะหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์ สังคมและวิชาทั่วไปไม่เพียงพอแล้ว จะต้องเพิ่มวิชาจริยธรรมและคุณธรรม ที่ยังมีน้อยมากในปัจจุบันลงไปเพิ่มขึ้นอีก โดยต้องเป็นการเรียนการสอนที่ไม่น่าเบื่อ เพราะมีตัวชี้วัดว่าเด็กและเยาวชนสมาธิสั้น รวมทั้งจะต้องมีการเพิ่มบุคลากรด้านสังคมและจิตวิทยา ซึ่งยังมีไม่เพียงพอเช่นกันให้มากขึ้น
สำหรับการจัดการศึกษาของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและศูนย์ฝึกฯ พบว่า เป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย 576 คน,จบระดับประถมศึกษา 2,070 คน ,มัธยมต้น 951 คน มัธยมปลาย 79 คน ปวช.15 คนและการศึกษาอื่นๆ 95 คน ระยะเวลาที่ศาลสั่งฝึกอบรมตั้งแต่1-3เดือนไปจนถึง2ปี โดยครู 1คนต้องดูแลเด็ก50-80 คนเนื่องจากบุคลากรของกรมพินิจฯยังมีหน้าที่อื่น เช่น ต้องรายงานพฤติกรรมเด็กส่วศาล ซึ่งในส่วนนี้จะมีผลต่อการลดวันควบคุมตัวเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กกระตือรือร้นในการศึกษาและกลับตัวเป็นคนดี
ในส่วนของวิชาชีพที่ศูนย์ฝึกจัดอบรมให้เยาวชน ได้แก่ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างไม้ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างทำผม คอมพิวเตอร์ เกษตรกรรม ศิลปะ หัตถกรรม คหกรรม และอื่นๆ เพื่อให้เด็กสามารถเลี้ยงตัวเองและทำเป็นอาชีพได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกร้อยละ 48 กระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ พบว่าเด็ก ที่กระทำผิดเนื่องจากถูกใช้เป็นผู้ส่งยา บางรายโชคร้ายเป็นทั้งผู้ลำเลียงและผู้เสพ จนต้องถูกส่งตัวไปบำบัดรักษาอาการติดยา โดยปัญหายาเสพติดจะแก้แก้เฉพาะภายในศูนย์ฝึกและสถานพินิจไม่ได้สังคมภายนอกก็ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนถูกชี้นำและครอบงำในทางที่ผิด.-สำนักข่าวไทย