กรุงเทพฯ 26 ก.ย. – อธิบดีกรมชลประทานระบุกำลังเร่งระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล โดยใช้ทางน้ำหลักและลำน้ำในระบบชลประทาน แต่ยังไม่จำเป็นต้องนำน้ำเข้าแก้มลิง เพื่อสำรองพื้นที่ไว้ใช้รับน้ำหากมีปริมาณมากกว่าทางน้ำหลักจะรับได้
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเตรียมรับน้ำที่ยังไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ โดยสถานีตรวจวัดปริมาตรน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรค์วัดได้ 1,760 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนตกในลำน้ำปิงกับน่าน รวมทั้งฝนที่ตกลงในจังหวัดนครสวรรค์และก่อนแม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท มีแม่น้ำสะแกกรังจากจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีฝนตกในลุ่มน้ำเช่นกันไหลลงมาบรรจบ ทำให้มีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนสูงถึง 2,070 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากปล่อยให้ไหลผ่านเขื่อนไปปริมาตรเท่านี้จะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนสูง จึงยังคงควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนที่มีข้อกังวลจากนายเรวัต ประสงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพรนครศรีอุยธยา ที่ต้องการให้นำน้ำเข้าทุ่งที่เกี่ยวข้าวแล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งมีน้ำเอ่อล้นริมตลิ่งขณะนี้นั้น อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จะชี้แจงไปทางจังหวัดให้เข้าใจว่าวิธีการบริหารน้ำที่เหมาะสมขณะนี้ คือ แบ่งน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งท้ายและฝั่งขวาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะผ่านเขื่อนลงและเร่งระบายน้ำออกตามทางน้ำหลัก ล่าสุดเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ ร่นระยะทางของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งแคบและคดเคี้ยวผ่านช่องลัดเพื่อให้ออกสู่ทะเลโดยเร็ว
สำหรับการนำน้ำเข้าทุ่งที่เป็นแก้มลิงชั่วคราวยังไม่มีความจำเป็นระยะนี้ เนื่องจากการนำน้ำเข้าพื้นที่ที่ไม่มีระบบช่องทางน้ำออกจะเกิดภาระการระบายน้ำออกภายหลัง ที่สำคัญต้องสำรองพื้นที่เหล่านี้ไว้ หากฝนตกลงมาชุกอีกมีน้ำปริมาณมากเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะสามารถนำน้ำเข้าพื้นที่เหล่านี้เพื่อลดปริมาณน้ำได้ แต่หากนำน้ำเข้าก่อนเวลาที่สมควรแก้มลิงเต็มแล้ว เมื่อน้ำมาจะไม่มีพื้นที่ให้นำน้ำเข้าไปเก็บและบริหารจัดการยากกว่า.-สำนักข่าวไทย