กรุงเทพฯ 1 มิ.ย. – ทีเอ็มบี ปรับจีดีพีปีนี้ขึ้นโตร้อยละ 4.5 แรงส่งจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกโตดีกว่าคาด บวกส่งออกและลงทุนเอกชนขยายตัวดี
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย ( TMB Analytics) กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 จากเดิมโตร้อยละ 4.2 สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่เติบโตแข็งแกร่งโตร้อยละ 3.9 โดยมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่โตร้อยละ 4.8 ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเฉลี่ย 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ที่มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกรวมขยับสูงขึ้นไปด้วย ทำให้ภาพรวมการส่งออกไทยขยายตัวร้อยละ 8.6 สูงกว่าเดิมที่คาดโตร้อยละ 4.8
นายนริศ กล่าวว่า เครื่องยนต์สำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ คือ การลงทุนเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นโตร้อยละ 4.4 สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร อุปกรณ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันมา 6 ไตรมาส ส่งผลการนำเข้าปีนี้ขยายตัวร้อยละ 12.6 บวกกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออก เช่น ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ปรับสูงขึ้นแตะระดับ 80 สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจดีขึ้น จากการที่ประกาศใช้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ช่วยผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนหลายด้าน ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 8.5 แม้จะแผ่วลงบ้างแต่ยังมีเม็ดเงินโครงสร้างพื้นฐานปีนี้ที่ 36,000 ล้านบาท ส่วนท่องเที่ยวยังโตต่อเนื่องคาดจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 38.5 ล้านคน โตร้อยละ 9
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนกลับสู่ขาขึ้น คาดโตร้อยละ 3.4 การบริโภคสินค้าคงทนเริ่มกลับมาหลังจากปลดล็อคโครงการรถคันแรก รวมทั้งรายได้เกษตรที่ดีขึ้น แต่ยังไม่เข้มแข็งเพราะยังมีปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนกดดัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้ผู้บริโภคกล้าเสี่ยงลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจไทยได้ อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1-2ครั้งปลายปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 1.50 ขณะที่ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่า สิ้นปีนี้มีโอกาสอยู่ที่ 31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
ส่วนแนวโน้มสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ คาดขยายตัวร้อยละ 5.5 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์โตร้อยละ 5.3 จากการสินเชื่อเอสเอ็มอีที่โตร้อยละ 6.9 และ สินเชื่อรายย่อยโตร้อยละ 7.3 จากกำลังซื้อที่ปรับดีขึ้น และการทยอยลงทุนใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนผลิต ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล มีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากปีก่อนที่ร้อยละ 2.9 ผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัว.- สำนักข่าวไทย